ดอกมะลิ วันแม่

วันแม่ของทุกปี เราจะใช้ดอกมะลิไหว้แม่ แต่เคยสงสัยกันหรือไม่ค่ะ ว่าทำไมดอกไม้ประจำวันแม่ ถึงต้องเป็นดอกมะลิ

ดอกไม้ดอกเล็ก ๆ สีขาวบริสุทธิ์ที่มีกลิ่นหอมชวนดมอย่าง “ดอกมะลิ” ถูกนำมาใช้เป็นดอกไม้สัญลักษณ์ “วันแม่” เพราะดอกมะลิเปรียบเสมือนความรักอันบริสุทธิ์ของแม่ที่มีให้ลูกน้อยไม่มีวันเสื่อมคลาย เหมือนกับความหอมของดอกมะลิที่หอมนาน และออกดอกตลอดทั้งปี นอกจากนี้ คนไทยยังนิยมนำดอกมะลิมาร้อยมาลัยบูชาพระ ดังนั้น ดอกมะลิ จึงเปรียบเสมือนการบูชาแม่ผู้มีพระคุณของลูก ๆ ทุกคน

อย่างไรก็ตาม ดอกมะลิ ดอกไม้ไทยแท้ชนิดนี้ ไม่ได้มีดีแค่ความหอม หรือนำไปร้อยมาลัย แต่ยังเป็นดอกไม้ที่มีประโยชน์อีกมากมาย 
รวมทั้งแฝงไว้ด้วยสรรพคุณทางยาในการช่วยบำบัดและรักษาอาการเจ็บป่วยได้อย่างดีเยี่ยมโดยที่เราคาดไม่ถึง

ดอกมะลิ  เป็นไม้ดอกไม้ประดับที่มีกลิ่นหอมเย็นใจให้ความรู้สึกสุขสงบ มีชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า Jasmine ส่วนชื่อทางภาษานักพฤกษศาสตร์ที่ใช้เรียกขานกัน คือ Jasminum sambac (L.) Ait. เป็นพืชในวงศ์  Oleaceae ส่วนบ้านเราไม่ว่าจะเป็นภาคใด ที่ไหนก็เรียกว่า ดอกมะลิ

ดอกมะลิ กับลักษณะทางพฤกษศาสตร์ เป็นไม้พุ่มขนาดเล็กที่มีความสูงไม่มากนัก สูงอย่างเต็มที่ส่วนใหญ่ไม่เกิน 2 เมตร ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ดอกมะลิได้รับความนิยม จากคนรักต้นไม้ให้เป็นตัวเลือกแรกที่จะปลูกไว้ในบ้าน มะลิเป็นไม้พุ่มที่แตกแขนงกิ่งก้านสาขาออกมามากมาย กิ่งอ่อนจะมีขนสั้น ๆ นุ่มมือ ใบเป็นแบบใบเดี่ยวออกในลักษณะตรงข้ามกัน ใบค่อนข้างกลม ปลายใบมน สีเขียวเข้ม ดอกเป็นแบบดอกเดี่ยวหรือออกเป็นช่อก็ได้ โดยแต่ละช่อมี 2-3 ดอก กลีบเลี้ยงเป็นหลอดสีขาว กลีบดอกสีขาวนวลตา กลิ่นหอมอวล ไม่ฉุนจัดจนเกินไป เลี้ยงง่าย เติบโตไว ไม่ต้องการความเอาใจใส่ หรือต้องดูแลอะไรเป็นพิเศษ

ดอกมะลิ กับคุณค่าและคุณประโยชน์ คนสมัยก่อน นอกจากจะนิยมปลูกดอกมะลิเอาไว้เป็นไม้ดอกไม้ประดับ เพื่อชื่นชมกับดอกสีขาวสวยนุ่มนวลชวนมองแล้ว เขายังเก็บดอกมะลิตูมมาใส่พาน หรือถ้ามีเวลาว่างพอก็จะนำมาร้อยเป็นมาลัยกราบบูชาพระอีกด้วย  กลิ่นหอมอ่อน ๆ อบอวลของดอกมะลิที่อยู่ในห้องพระ ให้ความรู้สึกสงบใจอีกต่างหาก

นอกจากนี้ยังนำดอกมะลิมาลอยในน้ำดื่มเย็น ๆ ให้แขกผู้มาเยือนได้ดื่มกันอย่างชื่นอกชื่นใจ หรือจะนำดอกมะลิไปลอยในน้ำเชื่อม กินกับขนมหวานไทย ก็ทำให้มีกลิ่นหอมชวนทาน แต่ทั้งนี้ต้องมั่นใจว่า ดอกมะลิที่นำมาใช้ไม่ได้ฉีดยาฆ่าแมลง

ส่วนประโยชน์ทางสมุนไพรของมะลิก็มีแทบทุกส่วนก็ว่าได้ ไล่กันไปตั้งแต่รากเรื่อยไปจนถึงดอกทีเดียว รากของมะลิแก้ได้สารพัดโรค ทั้งปวดเมื่อย เคล็ดขัดยอก เลือดออกตามไรฟัน รวมทั้งช่วยรักษาหลอดลมอักเสบได้ด้วย หากนำรากมาฝนกินกับน้ำ แก้ร้อนในได้ดี คนที่ป่วยเป็นโรคเกี่ยวกับทรวงอก ให้นำรากมาประมาณ 1-1.5 กรัม ต้มน้ำกินก็ช่วยได้

ส่วนใบใช้แก้ไข้ที่เกิดจากอาการเปลี่ยนแปลงได้ดี รวมทั้งรักษาอาการปวดท้อง แน่นท้อง ท้องเสีย หากนำใบมาตำแล้วละลายกับน้ำปูนใส แต้มแผลฟกช้ำ แผลเรื้อรัง โรคผิวหนังจะหายไวขึ้น ตลอดจนช่วยบำรุงสายตา และขับน้ำนมสตรีที่มีครรภ์ได้ด้วย

สุดท้ายคือส่วนของดอกมะลิ นอกจากความสวยและความหอมแล้ว ยังแก้โรคบิด อาการปวดท้อง หากตำให้ละเอียดพอกที่ขมับ แก้อาการปวดหัวและปวดหูชั้นกลางได้ แถมยังช่วยรักษาแผลพุพอง แก้พิษแมลงสัตว์กัดต่อย รวมทั้งเป็นยาบำรุงหัวใจได้อย่างดีเยี่ยมอีกขนานหนึ่งด้วย นี่แหละคุณค่าของ ดอกมะลิ ดอกไม้ไทยที่หาได้ง่าย ๆ ใกล้ ๆ ตัว ใกล้ใจ และใกล้มือจริง ๆ 

วันอาสาฬหบูชา

วันอาสาฬหบูชา เป็นวันเพ็ญเดือนอาสาฬหะ (วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8) ซึ่งตรงกับวันอังคารที่ 19 กรกฎาคม 2559 เป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร แก่ปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 ทำให้พราหมณ์โกณฑัญญะเกิดความเลื่อมใส ในพระธรรมของพระพุทธเจ้า จนได้ดวงตาเห็นธรรมจึงขออุปสมบทในพระธรรมวินัยของพระพุทธเจ้า ด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา ทำให้มีพระรัตนตรัยครบองค์สามบริบูรณ์เป็นครั้งแรกในโลก คือ มีทั้งพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์

การแสดงพระธรรมเทศนา มีหลักธรรมสำคัญ 2 ประการ คือ

  1. มัชฌิมาปฏิปทา(ทางสายกลาง) โดยมีหลักปฏิบัติเป็นองค์ประกอบ 8 ประการ เรียกว่า มรรคมีองค์ 8 ได้แก่
  2. สัมมาทิฏฐิ (การเห็นชอบ) คือ รู้เข้าใจถูกต้อง เห็นตามที่เป็นจริง
  3. สัมมาสังกัปปะ (การดำริชอบ) คือ คิดสุจริตตั้งใจทำสิ่งที่ดีงาม
  4. สัมมาวาจา (เจรจาชอบ) คือ กล่าวคำสุจริต
  5. สัมมากัมมันตะ (กระทำชอบ) คือ ทำการที่สุจริต
  6. สัมมาอาชีวะ (อาชีพชอบ) คือ ประกอบสัมมาชีพหรืออาชีพที่สุจริต
  7. สัมมาวายามะ (พยายามชอบ) คือ เพียรละชั่วบำเพ็ญดี
  8. สัมมาสติ (ระลึกชอบ) คือ ทำการด้วยจิตสำนึกเสมอ ไม่เผลอพลาด
  9. สัมมาสมาธิ (ตั้งจิตมั่นชอบ) คือ คุมจิตให้แน่วแน่มั่นคงไม่ฟุ้งซ่าน
  10. อริยสัจ 4(ความจริงอันประเสริฐของอริยะ) ซึ่งคือบุคคลที่ห่างไกลจากกิเลส ได้แก่ 
  11. ทุกข์ (ปัญหาทั้งหลายที่เกิดขึ้นจากมนุษย์) บุคคลต้องกำหนดรู้ให้เท่าทันตามความเป็นจริง
  12.  สมุทัย (เหตุเกิดแห่งทุกข์ หรือสาเหตุของปัญหา) ตัวการสำคัญของทุกข์ คือ ตัณหา
  13. นิโรธ (การดับทุกข์) เริ่มด้วยอยู่อย่างรู้เท่าทันโลกและชีวิต ดำเนินชีวิตด้วยการใช้ปัญญา
  14. มรรค (กระบวนวิธีแห่งการแก้ปัญหา) ได้แก่ มรรคมีองค์ 8 ประการดังกล่าวข้างต้น

วันเข้าพรรษา (วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8) ตรงกับวันพุธที่ 20 กรกฎาคม 2559 เป็นวันสำคัญที่พระสงฆ์จะอธิษฐานว่าจะพักประจำอยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่ง ตลอดระยะเวลาฤดูฝนที่มีกำหนดเป็นระยะเวลา 3 เดือน ตามที่พระธรรมวินัยบัญญัติไว้ โดยไม่ไปค้างแรมที่อื่น หรือที่เรียกว่า “จำพรรษา” ด้วยเหตุที่พระภิกษุในสมัยพุทธกาล มีหน้าที่จะต้องจาริกโปรดสัตว์ และเผยแผ่พระธรรมคำสั่งสอนแก่ประชาชนไปในที่ต่าง ๆ ไม่จำเป็นต้องมีที่อยู่ประจำ แม้ในฤดูฝน ชาวบ้านจึงตำหนิว่าไปเหยียบข้าวกล้าและพืชอื่น ๆ จนเสียหาย พระพุทธเจ้าจึงทรงวางระเบียบการจำพรรษาให้พระภิกษุอยู่ประจำที่ตลอด 3 เดือน ในฤดูฝน คือ เริ่มตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ของทุกปี เรียกว่า “ปุริมพรรษา” และออกพรรษาในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 เรียกว่า “ปัจฉิมพรรษา” เว้นแต่มีเหตุจำเป็น

            กิจกรรมวันอาสาฬหบูชา ทำบุญตักบาตร รักษาศีล ฟังพระธรรมเทศนา สวดมนต์ และในตอนค่ำก็จะมีการเวียนเทียนที่เป็นการสืบทอดประเพณีอันดีงามของไทย

กิจกรรมวันเข้าพรรษา ทำบุญตักบาตร ถวายเครื่องสักการะบูชา ดอกไม้ ธูปเทียน และเครื่องใช้ พร้อมฟังเทศน์ ฟังธรรม และรักษาอุโบสถศีลกันที่วัด บางคนอาจตั้งใจงดเว้นอบายมุขต่าง ๆ เป็นกรณีพิเศษ เช่น งดเสพสุรา งดฆ่าสัตว์ เป็นต้น บิดามารดามักจะจัดพิธีอุปสมบทให้บุตรหลานของตน โดยถือกันว่าการเข้าบวชเรียนและอยู่จำพรรษาในระหว่างนี้ และมีประเพณีสำคัญที่ขาดไม่ได้เลย คือ “ประเพณีหล่อเทียนเข้าพรรษา” ประเพณีที่กระทำกันเมื่อใกล้ถึงฤดูเข้าพรรษา

ดังนั้น พุทธศาสนิกชนทั้งหลายควรเข้าวัด เพื่อน้อมระลึกถึงคุณพระรัตนตรัย อีกทั้งยังเป็นการช่วยชะล้างจิตใจให้ปลอดโปร่งผ่องใส จะได้มีร่างกายและจิตใจที่พร้อมสำหรับการดำเนินชีวิต

วันวิสาขบูชา Visakha Puja (Vesak Day)

วิสาขบูชา Visakha Puja เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาสากลของพุทธศาสนิกชนทั่วโลก ซึ่งตรงกับวันศุกร์ที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๕๙ เป็นวันคล้ายวันที่เกิดเหตุการณ์สำคัญที่สุดในพระพุทธศาสนา ๓ เหตุการณ์ คือ

เหตุการณ์ที่ ๑ เมื่อ ๘๐ ปี ก่อนพุทธศักราช เป็นวันประสูติของเจ้าชายสิทธัตถะ ณ ใต้ร่มสาลพฤกษ์ ในพระราชอุทยานลุมพินีวัน ปัจจุบันอยู่ในเขตประเทศเนปาล

เหตุการณ์ที่ ๒ เมื่อ ๔๕ ปี ก่อนพุทธศักราช เป็น วันที่เจ้าชายสิทธัตถะได้บรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ ตรัสรู้เป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ณ ใต้ร่มโพธิ์พฤกษ์ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม ปัจจุบันอยู่ใน พุทธคยา เขตประเทศอินเดีย พระองค์ทรงเริ่มเจริญสมถภาวนา ทำจิตใจให้เป็นสมาธิ จนบรรลุปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน และจตุตถฌาน ตามลำดับ แล้วทรงทำให้ฌานอันเป็นองค์แห่งปัญญา ๓ ประการ เกิดขึ้นในยามทั้ง ๓ คือ

–       ปฐมยาม ทรงบรรลุ ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ คือ ทรงสามารถระลึกชาติได้

–       มัชฌิมยาม ทรงบรรลุ จุตูปปาตญาณ คือ รู้การตายการเกิดของสัตว์ทั้งปวง หรืออีกนัยหนึ่งเรียกว่าได้ ทิพยจักษุญาณ คือ ตาทิพย์

–       ปัจฉิมยาม พระองค์ได้ทรงพิจารณาปฏิจจสมุปบาท คือ ธรรมที่อาศัยซึ่งกันและกัน เกิดขึ้นเป็นเหตุเป็นผลของกันและกันต่อเนื่องเสมือนกับลูกโซ่ จนได้รู้แจ้งซึ่งอริยสัจธรรม ๔ ประการ (อริยสัจ ๔) คือ

o  ทุกข์ ความทุกข์ สภาวะที่ทนได้ยาก ความไม่สบายกาย ไม่สบายใจ (ปัญหา)

o  สมุทัย สาเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ (สาเหตุของปัญหา)

o  นิโรธ ความดับไปซึ่งต้นเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ (จุดมุ่งหมายในการแก้ปัญหา)

o  มรรค ทนทางที่จะดับทุกข์ได้ (วิธีการแก้ปัญหา)

–       พระองค์ทรงบรรลุ อาสวักขยญาณ คือ ความรู้เป็นเหตุสิ้นอาสวกิเลสทั้งปวง เมื่อนั้นจิตของพระองค์ก็หลุดพ้นจากกิเลสและอาสวะทั้งปวง ไม่มีความยึดถือมั่นด้วยตัณหาอุปาทาน อันเป็นการได้ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ สำเร็จเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างสมบูรณ์ ในยามที่ ๓ แห่งคืนวิสาขมาส ก่อนพุทธศักราช ๔๕ ปีตั้งแต่นั้น พระองค์ทรงได้รับการถวายพระนามบัญญัติโดยคุณนิมิตแห่งพระองค์ว่า “อรหํ” เป็นพระอรหันต์ผู้ห่างไกลจากกิเลสทั้งปวง และ “สมฺมาสมฺพุทฺโธ” เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ได้ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง หามีผู้ใดเป็นครูอาจารย์ไม่ ต่อมา พระองค์ได้ทรงนำสิ่งที่พระองค์ทรงรู้แจ้งในวันตรัสรู้นี้มาเผยแก่หมู่ชนทั้งหลาย พระองค์จึงทรงได้รับขนานพระนามว่า “สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า” ทรงกอปรไปด้วย “พระบริสุทธิคุณ”, “พระปัญญาคุณ” ผู้ซึ่งได้ทรงสั่งสอนประกาศพระสัจธรรม คือ ความจริงของโลก แก่ชนทั้งปวงโดย “พระมหากรุณาธิคุณ”

เหตุการณ์สุดท้าย เมื่อ ๑ ปี ก่อนพุทธศักราช เป็น วันเสด็จดับขันธปรินิพพานขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ณ ใต้ร่มสาลพฤกษ์ ในสาลวโนทยาน พระราชอุทยานของเจ้ามัลละ เมืองกุสินารา ปัจจุบันอยู่ในเขตประเทศอินเดีย พระปัจฉิมโอวาทเตือนเป็นครั้งสุดท้ายว่า ภิกษุทั้งหลาย! บัดนี้ เราจักเตือนพวกเธอทั้งหลายว่า “สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา. พวกเธอทั้งหลาย จงยังประโยชน์ตนและท่าน ให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด”

โดยทั้งสามเหตุการณ์ได้เกิด ณ วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ หรือวันเพ็ญแห่งเดือนวิสาขะ เรียกการบูชาในวันนี้ว่า “วิสาขบูชา” ย่อมาจาก “วิสาขปุรณมีบูชา” แปลว่า “การบูชาในวันเพ็ญเดือนวิสาขะ” และมักตรงกับเดือนพฤษภาคมหรือมิถุนายนตามปฏิทินจันทรคติของไทย โดย ถ้าปีใดมีเดือน ๘ สองหน ก็เลื่อนไปทำในวันเพ็ญเดือน ๗ และได้นิยมประกอบพิธีบำเพ็ญบุญกุศลและประกอบพิธีพุทธบูชาต่าง ๆ เพื่อเป็นการถวายสักการะรำลึกถึงแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสืบมาจนปัจจุบัน และพุทธสังเวชนียสถานที่เกี่ยวข้องกับวันวิสาขบูชาได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นมรดกโลก

วิสาขบูชา มีการนับถือปฏิบัติกันในหลายประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาทั้งมหายานและเถรวาททุกนิกายมาช้านานแล้ว ในบางประเทศเรียกพิธีนี้ว่า “พุทธชยันตี” (Buddha Jayanti) เช่นใน อินเดีย และศรีลังกา ในปัจจุบันมีหลายประเทศที่ยกย่องให้วันวิสาขบูชาเป็นวันหยุดราชการ เช่น ประเทศอินเดีย ประเทศไทย ประเทศพม่า ประเทศศรีลังกา สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย เป็นต้น (ส่วนใหญ่เป็นประเทศที่มีสัดส่วนประชากรที่นับถือพระพุทธศาสนานิกายเถรวาทมากที่สุด) ในฝ่ายของประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาเถรวาทในปัจจุบัน ส่วนใหญ่ได้รับคติการปฏิบัติบูชาในวันวิสาขบูชามาจากลังกา (ประเทศศรีลังกา) ในประเทศไทยปรากฏหลักฐานว่ามีการจัดพิธีวิสาขบูชามาตั้งแต่สมัยสุโขทัย

วันวิสาขบูชา ถือได้ว่าเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาสากล เพราะพุทธศาสนิกชนพร้อมใจกันจัดพิธีพุทธบูชาในวันนี้พร้อมกันทั่วทั้งโลก (ซึ่งไม่เหมือนวันมาฆบูชา และวันอาสาฬหบูชา ที่เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาที่นิยมนับถือกันเฉพาะในประเทศไทย, ลาว, และกัมพูชา) และด้วยเหตุนี้ ประชุมใหญ่สมัชชาสหประชาชาติจึงยกย่องให้วันวิสาขบูชาเป็น วันสำคัญสากล (International Day) ตามข้อมติสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติที่ ๕๔/๑๑๒ ลงวันที่ ๑๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๒

กิจกรรมต่าง ๆ ที่ถือปฏิบัติกัน คือ การทำบุญตักบาตร การรักษาศีลส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรม ลด ละ เลิกอบายมุข ทำความดี ทำจิตใจให้บริสุทธิ์ผ่องใส การปฏิบัติธรรมน้อมนำหลักธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนาไปประพฤติปฏิบัติสร้างสังคมไทยให้เป็นสังคมที่ดีมีคุณธรรมอย่างยั่งยืน ต่อด้วยการฟังพระธรรมเทศนา และการเวียนเทียน เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา

            ต้นโพธิ์ ใบโพธิ์ หรือส่วนประกอบอื่นๆ ของต้นโพธิ์ สื่อถึงปัญญา นั่นคือจุดเริ่มต้นแรงบันดาลใจของ Goldlery ในการสรรค์สร้าง แหวนรูปใบโพธิ์ที่เป็นสัญลักษณ์แห่งปัญญา

วันพืชมงคล

วันแรกนาขวัญ หรือวันพืชมงคล ถือว่าเป็นวันเกษตรกรไทย เพื่อระลึกถึงความสำคัญของเกษตรกรรม วันพืชมงคลจะจัดไม่ตรงกันทุกปีขึ้นกับสำนักพระราชวังจะกำหนดขึ้น ในปีนี้ตรงกับวันที่ 9 พฤษภาคม 2559 โดยมีการประกอบพิธีสองอย่าง คือ

 

  1. พระราชพิธีพืชมงคล เป็นพิธีทางพุทธศาสนา เกิดขึ้นครั้งแรกในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎ (รัชกาลที่ 4) มีพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ เป็นพิธีสงฆ์เป็นพิธีทำขวัญเมล็ดพืชพันธุ์ต่าง ๆ เช่น ข้าวเปลือกเจ้า ข้าวเหนียว ข้าวฟ่าง ข้าวโพด ถั่ว งา เป็นต้น ฯลฯ มีจุดมุ่งหมายที่จะให้เมล็ดพันธุ์เหล่านั้น ปราศจากโรคภัยและให้อุดมสมบูรณ์เจริญงอกงามดี
  2. พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เป็นพิธีทางศาสนาพราหมณ์ กระทำสืบเนื่องมาแต่สมัยสุโขทัย เริ่มต้นการไถนาเพื่อหว่านเมล็ดข้าว มีจุดมุ่งหมายที่จะให้เป็นอาณัติสัญญาณว่า บัดนี้ฤดูกาลแห่งการทำนาและเพาะปลูกได้เริ่มขึ้นแล้ว

 

พระราชพิธีทั้งสองนี้ ได้กระทำเต็มรูปแบบมาเรื่อย ๆ จนถึงปี พ.ศ. 2479 ได้เว้นไปชั่วระยะเวลาหนึ่ง ด้วยสถานการณ์โลกและบ้านเมืองอยู่ในภาวะที่ไม่สมควรจะจัดงานใด ๆ จึงว่างเว้นไป 10 ปี ต่อมาทางราชการพิจารณาเห็นว่าประเทศไทย เป็นประเทศกสิกรรม โดยเฉพาะทำนาควรจะได้ฟื้นฟู ประเพณีเก่าอันเป็นมงคลแก่การเพาะปลูก ดังนั้น ใน พ.ศ. 2490 จึงกำหนดให้มีพิธีพีชมงคลขึ้นอีก แต่มีแค่พระราชพิธีพืชมงคลเท่านั้น (พิธีเต็มรูปแบบว่างเว้นไปถึง 23 ปี) ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2503 จึงจัดให้มีราชพิธีจรดพระนาคัลแรกนาขวัญร่วมกับพิธีพืชมงคลนับแต่นั้นเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบันนี้จึงจัดให้เป็นวันสำคัญของชาติ

 

พระราชพิธีพืชมงคล (วันที่หนึ่ง) ประกอบพิธีในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวังโดย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและ สมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินไปยังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เสด็จพระราชดำเนินขึ้นสู่พระอุโบสถ ทรงจุด ธูป เทียนถวายนมัสการพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรและพระพุทธรูปที่สำคัญ พระราชาคณะถวายศีลจบแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระสุหร่ายถวายดอกไม้บูชา พระคันธาราษฎร์ ทรงอธิษฐานเพื่อความสมบูรณ์แห่งพืชผลของราชอาณาจักรไทย แล้วพระมหาราชครูประธานคณะพราหมณ์ อ่านประกาศพระราชพิธีพืชมงคล พระสงฆ์ 11 รูป เจริญพระพุทธมนต์จบแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงหลั่งน้ำสังข์ พระราชทานใบมะตูม ทรงเจิม พระราชทานธำมรงค์ กับพระแสงปฎัก สำหรับตำแหน่งพระยาแรกนาแก่ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แล้วทรงหลั่งน้ำสังข์ พระราชทานใบมะตูม ทรงเจิมแก่เทพีผู้ที่จะเข้าในการพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ขณะนั้นพระสงฆ์เจริญชัยมงคลคาถา พนักงานประโคมฆ้องชัย เครื่องดุริยางค์ หลังจากนั้นทรงประเคนจตุปัจจัยไทยธรรม พระสงฆ์ถวายอนุโมทนา ถวายอดิเรก ออกจากพระอุโบสถเสด็จพระราชดำเนินกลับ

พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ (วันที่สอง)

กระทำในตอนเช้าของรุ่งขึ้นอีกวันหนึ่ง ณ บริเวณมณฑลพิธีท้องสนามหลวง โดยจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นพระยาแรกนาจุดธูปเทียนถวายสักการะเทวรูปสำคัญในโรงพิธีพรามณ์อันได้ เทวรูปพระอิศวร พระอุมาภควดี พระพรหม พระพิฆเนศ พระนารายณ์ พระลักษมี พระมเหศวรีและพระพลเทพ แล้วจะได้ตั้งสัตยาธิษฐาน หยิบผ้านุ่งแต่งกาย ไว้พร้อม เมื่อพระยาแรกนาตั้งสัตยาธิษฐานหยิบได้ผ้านุ่งผืนนั้นทับผ้านุ่งเดิมอีกชั้นหนึ่ง นุ่งอย่างบ่าวขุนเตรียมออกแรกนา

ครั้นเวลาประมาณ 08.30 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและ สมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งจากพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ไปยังพลับพลาที่ประทับบริเวณมณฑลพิธีสนามหลวง เพื่อเป็นองค์ประธานในงานพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ

เมื่อถึงฤกษ์พิธีไถหว่าน พระยาแรกนาพร้อมเทพีออกจากโรงพิธีพราหมณ์ มีราชบัณฑิตและพราหมณ์นำผ่านพลับพลาหน้าพระที่นั่ง พระยาแรกนาเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายบังคม แล้วไปยังลานแรกนา เจ้าพนักงาน จูงพระโคเทียมแอก พระยาแรกนาเจิมพระโคและคันไถ จับหางไถแล้วไถดะไปโดย ทักษิณาวรรต ๓ รอบ ไถแปร ๓ รอบ พร้อมหว่านเมล็ดพันธุ์ข้าวพนักงานประโคมฆ้องชัยเครื่องดุริยางค์ แล้วไถกลบอีก 3 รอบ เพื่อกลบเมล็ดพันธุ์ข้าวลงในดิน เสร็จแล้วพนักงานปลดพระโคออกจากแอก พระยาแรกนาและเทพีกลับไปยังโรงพิธีพราหมณ์

พราหมณ์เสี่ยงทายของกิน 7 สิ่ง ตั้งเลี้ยงพระโค เมื่อพระโคกินของสิ่งใด โหรหลวงจะได้ถวายคำพยากรณ์เสร็จแล้วจะได้ เบิกเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ ตัวแทนสถาบันเกษตรกร ดีเด่นแห่งชาติ ตัวแทนสหกรณ์ดีเด่นแห่งชาติ และปราชญ์เกษตรของแผ่นดินสาขาต่าง ๆ เข้ารับพระราชทานโล่เกียรติคุณ หลังจากนั้นจะได้แห่พระยาแรกนาเป็นกระบวนอิสริยยศออกจากโรงพิธีพราหมณ์ พระยาแรกนากราบถวายบังคม แล้วเข้ากระบวนไปขึ้นรถยนต์หลวงพร้อมด้วยเทพีไปรอเข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและ สมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชินีนาถที่แปลงนาทดลองใน โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและ สมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินโดย รถยนต์พระที่นั่งออกจากพลับพลาพิธีไปยังแปลงนาทดลองในโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา พระยาแรกนาได้เข้ากราบถวายบังคม พระยาแรกนาและเทพีนำเมล็ดพันธุ์ข้าวไปหว่านในแปลงนาทดลองในโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา เพื่อปลูกไว้ใช้ใน พระราชพิธีฯ ในปีต่อไป เมื่อพระยาแรกนาหว่านข้าวเสร็จแล้ว เข้าไปกราบถวายบังคมพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและ สมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชินีนาถ เป็นอันเสร็จ พระราชพิธี.

 

ประชาชนเก็บเมล็ดพันธุ์ข้าวที่พระยาแรกนาหว่านในพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญหลังสิ้นสุดพระราชพิธี

วันจักรี

วันจักรี เป็นวันที่ระลึกถึงพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ปฐมบรมราชวงศ์จักรี

  วันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2325 เป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเสด็จปราบดาภิเษกขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีและทรงสถาปนากรุงเทพมหานครเป็นเมืองหลวงของไทย ด้วยพระมหากรุณาธิคุณดังกล่าว ในปี พ.ศ. 2416 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯ ให้หล่อพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 4 พระองค์ ได้แก่ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อประดิษฐานไว้ให้พระมหากษัตริย์องค์ต่อมา พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการ และประชาชนได้ถวายบังคมระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณเป็นธรรมเนียมปีละครั้ง และโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญไปประดิษฐานไว้บนพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท แต่มีการย้ายสถานที่ในการประดิษฐานหลายครั้ง เช่น พระที่นั่งสุทไธสวรรยปราสาท และพระที่นั่งศิวาลัยมหาปราสาท เป็นต้น ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้ย้ายพระบรมรูปมาไว้ ณ ปราสาทพระเทพบิดร ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พร้อมกับพระบรมรูปของรัชกาลที่ 5 พระบรมชนกนาถ จนกระทั่ง ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2461 การซ่อมแซมก่อสร้างและประดิษฐานพระบรมรูปทั้ง 5 รัชกาล จึงสำเร็จลุล่วง และได้มีพระบรมราชโองการประกาศตั้งพระราชพิธีถวายบังคมพระบรมรูป ในวันที่ 6 เมษายนปีนั้น และต่อมาโปรดฯ ให้เรียกวันที่ 6 เมษายนว่า “วันจักรี”

วันมาฆบูชา

วันมาฆบูชา หรือวันจาตุรงคสันนิบาต (วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3) เป็นวันที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์ แก่พระสงฆ์เป็นครั้งแรก เหตุที่เรียกว่าเป็นวันจาตุรงคสันนิบาต (จาตุร แปลว่า 4 องค์ แปลว่า ส่วน และสันนิบาต แปลว่า ประชุม)  เพราะในวันนั้นมีเหตุอัศจรรย์เกิดขึ้น 4 ประการ คือ

  1. วันเพ็ญ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3
  2. พระสงฆ์ 1,250 รูป มาประชุมพร้อมกันโดยมิได้นัดหมาย ณ วัดเวฬุวัน เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ เพื่อสักการะพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
  3. พระสงฆ์มาประชุมพร้อมกันล้วนเป็นพระอรหันต์ ผู้ได้อภิญญา 6
  4. เอหิภิกขุอุปสัมปทา คือ พระสงฆ์ทั้งหมดได้รับการอุปสมบทจากพระพุทธเจ้า

หลักธรรมคำสอนที่ควรนำมาปฏิบัติ คือ โอวาทปาติโมกข์ ซึ่งเป็นหลักคำสอนเพื่อนำไปสู่ทางหลุดพ้น โดยมีหลักดังนี้

  1. อุดมการณ์ 4  ได้แก่

1.1.   ขันติ (ความอดทนอดกลั้น) ทั้งกาย วาจา ใจ

1.2.   นิพพานเป็นเป้าหมายสูงสุดของออกบวช เพื่อการหลุดพ้นจากสังสารวัฏ

1.3.   ไม่เบียดเบียนผู้อื่นให้ทุกข์กาย ทุกข์ใจ

1.4.   พึงมีจิตใจที่สงบ ละจากอกุศลทั้งปวง ได้แก่ ความโลภ ความโกรธ และความหลง เป็นต้น

  1. หลักการ 3 ได้แก่ ศีล สมาธิ และปัญญา คือ

2.1.   ไม่ทำบาปทั้งปวง

2.2.   การทำกุศลให้ถึงพร้อม

2.3.   การทำจิตใจให้บริสุทธิ์

  1. วิธีการ 6 ได้แก่

3.1.   การไม่กล่าวร้าย (เผยแผ่ศาสนาด้วยการไม่กล่าวร้ายโจมตีดูถูกความเชื่อผู้อื่น)

3.2.   การไม่ทำร้าย (เผยแผ่ศาสนาด้วยการไม่ใช้กำลังบังคับข่มขู่ด้วยวิธีการต่างๆ)

3.3.   ความสำรวมในพระปาฏิโมกข์ (รักษาความประพฤติให้น่าเลื่อมใส)

3.4.   ความเป็นผู้รู้จักประมาณในอาหาร (เสพปัจจัยสี่อย่างรู้ประมาณพอเพียง)

3.5.   ที่นั่งนอนอันสงัด (สันโดษไม่คลุกคลีด้วยหมู่คณะ)

3.6.   ความเพียรในอธิจิต (พัฒนาจิตใจเสมอมิใช่ว่าเอาแต่สอนแต่ตนเองไม่กระทำตามที่สอน)

กิจกรรมที่พุทธศาสนิกชนควรปฏิบัติในวันมาฆบูชา

     ตอนเช้า ทำบุญตักบาตร ไปวัดเพื่อฟังพระธรรมเทศนา และจัดสำรับคาวหวานเพื่อถวายภัตตาหารเพล

     ตอนบ่าย ฟังพระธรรมเทศนา เจริญสามาธิภาวนา

     ตอนค่ำ นำดอกไม้ ธูปเทียน ไปเวียนเทียนรอบพระอุโบสถ 3 รอบ โดยขณะเดินพึงทำจิตใจให้สงบให้ระลึกถึงพระพุทธคุณด้วยการสวดบทอิติปิโส (รอบที่ 1) ระลึกถึงพระธรรมคุณด้วยการสวดสวากขาโต (รอบที่ 2) ระลึกถึงพระสังฆคุณด้วยการสวดสุปฏิปันโน (รอบที่ 3) จากนั้นนำธูปเทียนดอกไม้ไปบูชาตามปูชนียสถานเป็นอันเสร็จพิธี

วันที่รำลึกถึงพระคุณบูรพาจารย์

ประวัติวันครู

ปี พ.ศ. 2499 ในที่ประชุมสามัญคุรุสภาประจำปี จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีและประธานกรรมการอำนวยการคุรุสภากิตติมศักดิ์ ได้กล่าวคำปราศรัยต่อที่ประชุมครูทั่วประเทศว่า

“ที่อยากเสนอในตอนนี้ก็คือว่า เนื่องจากผู้เป็นครูมีบุญคุณ เป็นผู้ให้แสงสว่างในชีวิตของเราทั้งหลาย ข้าพเจ้าคิดว่าวันครูควรมี สักวันหนึ่งสำหรับให้บรรดาลูกศิษย์ทั้งหลายได้แสดงความเคารพ สักการะต่อบรรดาครูผู้มีพระคุณทั้งหลาย เพราะเหตุว่าสำหรับ คนทั่วไปถ้าถึงวันตรุษ วันสงกรานต์ เราก็นำเอาอัฐิของผู้มีพระคุณบังเกิดเกล้ามาทำบุญ ทำทาน คนที่สองรองลงไปก็คือครูผู้เสียสละ ทั้งหลาย ข้าพเจ้าคิดว่าในโอกาสนี้จะขอฝากที่ประชุมไว้ด้วย ลองปรึกษาหารือกันในหลักการ ทุกคนคงจะไม่ขัดข้อง”

จากแนวความคิดนี้ กอปรกับความเห็นของครูที่แสดงออกทางสื่อมวลชนและอื่นๆ ล้วนเรียกร้องให้มีวันครูเพื่อให้เป็นวันแห่งการรำลึก ถึงความสำคัญของครูในฐานะที่เป็นผู้เสียสละ ประกอบคุณงามความดี เพื่อประโยชน์ของชาติและประชาชนเป็นอันมากในปีเดียวกันที่ประชุมคุรุสภาสามัญประจำปีจึงได้พิจารณาเรื่องนี้และมีมติเห็นควรให้มีวันครูเพื่อเสนอ คณะกรรมการอำนวยการต่อไป โดยได้เสนอหลักการว่า เพื่อจะได้ประกอบพิธีระลึกถึงคุณบูรพาจารย์ ส่งเสริมสามัคคีธรรมระหว่างครูและเพื่อส่งเสริม ความเข้าใจอันดีระหว่างครูกับประชาชน

การจัดงานวันครูได้จัดเป็นครั้งแรกเมื่อ 16 มกราคม พ.ศ. 2500 กระทรวงศึกษาธิการสั่งการให้นักเรียนและครูหยุดในวันดังกล่าวได้ ในส่วนกลางใช้สถานที่ของกรีฑาสถานแห่งชาติเป็นที่จัดงานวันครูนี้ได้กำหนดเป็นหลักการให้มีอนุสรณ์งานวันครูไว้แก่อนุชนรุ่นหลังทุกปี อนุสรณ์ที่สำคัญคือ หนังสือประวัติครู หนังสือที่ระลึกวันครู และสิ่งก่อสร้างเป็นถาวรวัตถุ

การจัดงานวันครูได้ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงกิจกรรมให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมตลอดเวลา ในปัจจุบันได้จัดรูปแบบ การจัดงานวันครูจะมีกิจกรรม 3 ประเภทหลักดังนี้

 

กิจกรรมทางศาสนา

พิธีรำลึกถึงพระคุณบูรพาจารย์ ประกอบด้วยพิธีปฏิญาณตน การกล่าวคำระลึกถึงพระคุณบูรพาจารย์

กิจกรรมเพื่อความสามัคคีระหว่างผู้ประกอบอาชีพครู ส่วนมากเป็นการแข่งขันกีฬาหรือการจัดงานรื่นเริงในตอนเย็น

4 อย่างที่ต้องมีในวันไหว้ครู คือ ดอกมะเขือ หญ้าแพรก ข้าวตอก และดอกเข็ม

Cr. คุรุสภา

ศาสตร์แห่งสีนำโชค 2015

‘สี’ มีอิทธิพลต่อความรู้สึกของคนเราจนแทบแยกไม่ออก แต่ละสียังมีผลต่อความรู้สึกต่างกัน อีกทั้งความเชื่อและวัฒนธรรมของแต่ละประเทศยังแปลความหมายของสีไม่เหมือนกันด้วย สีเดียวกันอาจเป็นสีนำโชคของคนประเทศหนึ่ง แต่อีกซีกโลกมันกลับกลายเป็นสีอัปมงคลต่อพวกเขาอย่างมากก็เป็นได้ ขึ้นอยู่กับความเชื่อและวิจารณญาณ ว่าแล้วสาวๆ อย่างเราลองมาสำรวจศาสตร์แห่งสี เผื่อว่าใครจะลองนำไปปรับใช้ให้ตรงกับความชอบ และความเชื่อ

Lucky Color of 2015
ปี 2015 เป็นปีของ ‘แกะไม้’ หรือ The Wooden Sheep ดังนั้น สีที่จะช่วยเสริมพลังตามความเชื่อศาสตร์ฮวงจุ้ยคือสีเขียวและสีน้ำตาล รวมถึงสีน้ำเงินและสีดำ เป็นสีที่แทนธาตุน้ำและธาตุดำ เพราะเชื่อว่าทั้งสองธาตุนี้จะช่วยให้ไม้เจริญเติบโต ไม่จำกัดว่าจะต้องใส่เสื้อผ้าด้วยสีเหล่านั้นอย่างเดียว คุณอาจเลือกแอคเซสเซอรี่เก๋ๆ จิวเวลรี่ดีไซน์สวย หรือหินสีที่เป็นเทรนด์ฮิตอยู่ตอนนี้ อาทิ หยก อาเกต มาลาไคต์ กรีมทัวมาลีน เทอร์ควอยส์ ไคยาไนต์ มูนสโตน อัญมณีสีดำ เป็นต้น

Black ความเชื่อ : ในหลายๆ ประเทศเชื่อว่า สีดำเป็นสีกาลกิณี คนไทยและคนยุโรปเชื่อว่าเป็นสีของงานศพ ความตาย โชคร้าย ในขณะที่ชาวจีนกลับเชื่อว่า สีดำเป็นตัวแทนของฮวงจุ้ย ได้แก่ หยิน น้ำ เงินทอง รายได้ อำนาจ ความมั่นคง ทว่าโดยความหมายของสีดำเองก็ให้ความรู้สึกเร้นลับ คาดเดาไม่ได้ ไม่แน่นอนเหมือนดั่งสายน้ำ แต่สายน้ำเองก็ยังแสดงความสงบนิ่งในบางครั้ง 

White ความเชื่อ : สีที่แสดงถึงความบริสุทธิ์ สะอาด ความหวัง ความถูกต้อง ชาวยุโรปใช้สีขาวแทนสัญลักษณ์ของสันติภาพ นางฟ้า การแต่งงาน หมอ ในทางกลับกัน ประเทศญี่ปุ่น อินเดีย และจีน กลับเชื่อว่านี่คือสีแห่งความโศกเศร้า ความตาย ความทุกข์ 

Red ความเชื่อ : ลูกหลานเชื้อสายจีนคงทราบดีว่านี่คือสีแห่งความโชคดี ความสุข การเฉลิมฉลอง ถึงขนาดใช้เป็นสีของชุดเจ้าสาว ชาวอินเดียเองก็ใช้สีแดงแทนความหมาย ของความบริสุทธิ์ แต่สำหรับชาวแอฟริกาใต้กลับรู้สึกต่อสีแดงว่าเป็นสีที่แสดงถึงความโศกเศร้า ชาวเกาหลีเชื่อว่าหากเขียนชื่อด้วยหมึกสีแดงจะนำความโชคร้ายมาให้ ชาวอิสราเอลถ้าผูกเชือกสีแดงไว้ที่ข้อมือจะช่วยขับไล่ความชั่วร้าย แต่เซียนพนันไต้หวันจะต้องใส่ชุดชั้นในสีแดงจะนำโชคด้านการพนันมาให้ ถ้าชาวโปแลนด์ใส่จะหมายถึงโชคดีในการสอบ 

Yellow ความเชื่อ : คนอินเดียเชื่อว่าการนุ่งห่มด้วยผ้าสีเหลืองจะได้รับการคุ้มครองจากภูตผีปิศาจ เจ้าสาวชาวอินเดียยังมีประเพณีนุ่งส่าหรีสีเหลืองเป็นเวลา 6 วัน ก่อนวันแต่งงาน เพราะเชื่อว่าส่าหรีสีเหลืองจะช่วยคุ้มครองไม่ให้ภูตผีปิศาจมาทำร้าย แต่ถ้าถามชาวมาเลเซียเขาจะนิยมทาเรือเป็นสีเหลืองเพื่อให้เทพเจ้าคุ้มครองให้ปลอดภัยจากการออกทะเล ประเทศจีนเองก็ใช้สีเหลืองเป็นสีแห่งราชวงศ์ 

Green ความเชื่อ : สีเขียวกับชาวจีนให้ความรู้สึกไปในทางลบ สมัยก่อนผู้หญิงชาวจีนคนไหนสวมหมวกสีเขียวจะเป็นการประจานให้รู้ว่าเธอมีชู้ แต่ชาวอิสลามกลับให้เครดิตสีเขียวว่าเป็นสีแห่งความหวัง คุณธรรม เป็นสีของผู้ที่มีศรัทธาแรงกล้า รวมไปถึงชาวยุโรปเองก็มองว่าสีเขียวเป็นสีแห่งความปลอดภัย สื่อถึงสิ่งแวดล้อม เหมือนอย่างที่ชาวญี่ปุ่นให้สีเขียวเป็นตัวแทนของการมีชีวิต 

Blue ความเชื่อ : ศาสตร์การแพทย์มองสีน้ำเงินเป็นสีที่ใช้ในการบำบัด ทำให้ระบบหายใจเกิดความสมดุล จึงนำมาใช้รักษาโรคความดันโลหิตสูงและคลายความเหงา เหมือนเช่นที่ชาวยุโรปและหลักฮวงจุ้ยก็เชื่อว่าสีน้ำเงินจะนำความสงบ สันติสุข ความผ่อนคลาย การผจญภัยมาให้ คนจีนให้สีน้ำเงินเป็นตัวแทนของธาตุน้ำ มีเพียงชาวอิหร่านที่รู้สึกว่าสีน้ำเงินเป็นสีแห่งความโศกเศร้า 

Violet ความเชื่อ : คนไทยมองสีม่วงด้วยความโศกเศร้าและยกให้เป็นตัวแทนของแม่หม้าย ทั้งที่จริงๆ แล้วสีม่วงกลับมีพลังของผู้รู้ มอบความผ่อนคลาย กระตุ้นให้เกิดแรงบันดาลใจ พลังของสีม่วงยังช่วยปรับสมดุลในร่างกายให้กลับมาเป็นปกติ ชาวญี่ปุ่นก็เชื่อเช่นเดียวกันว่าสีม่วงหมายถึงการมีชีวิต 

————————————————————————

Color of Birth

เมื่อมีการนำศาสตร์แห่งตัวเลขมาผสมผสานกับศาสตร์แห่งสี ผลลัพธ์ที่ได้คือสีแห่งความโชคดีของผู้ที่เกิดในวันนั้นๆ

บุคคลที่เกิดวันที่ 1, 10 ,19 และ 28 สีนำโชคคือ : แดง, ส้ม
บุคคลที่เกิดวันที่ 2, 11, 20 และ 29 สีนำโชคคือ : ขาว
บุคคลที่เกิดวันที่ 3, 12, 21 และ 30 สีนำโชคคือ : เหลือง
บุคคลที่เกิดวันที่ 4, 13, 22 และ 31 สีนำโชคคือ : เขียว
บุคคลที่เกิดวันที่ 5, 14 และ 23 สีนำโชคคือ : เทาอ่อน
บุคคลที่เกิดวันที่ 6, 15 และ 24 สีนำโชคคือ : น้ำเงิน
บุคคลที่เกิดวันที่ 7, 16 และ 25 สีนำโชคคือ : เขียวอ่อน
บุคคลที่เกิดวันที่ 8, 17 และ 26 สีนำโชคคือ : น้ำเงินเข้ม
บุคคลที่เกิดวันที่ 9, 18 และ 27 : สีนำโชคคือ : แดง

New Year 2016

   ปีใหม่ หรือ วันขึ้นปีใหม่ 2559 หรือ ปีใหม่ภาษาอังกฤษ Happy New Year 2016  ใกล้มาถึงแล้ว วันขึ้นปีใหม่ หลาย ๆ คนคงชอบที่จะได้หยุดหลาย ๆ วัน ว่าแต่ที่หยุดและฉลองปีใหม่กันอยู่ทุกปี แล้วรู้หรือไม่ว่า ประวัติปีใหม่ หรือวันขึ้นปีใหม่ มีความเป็นมาอย่างไร วันนี้เรามีความหมายวันขึ้นปีใหม่ ประวัติวันขึ้นปีใหม่ มาฝาก  

ความหมายของวันขึ้นปีใหม่

          วันขึ้นปีใหม่ ตามความหมายในพจนานุกรมให้ความหมายคำว่า ปี” หมายถึง เวลาชั่วโลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ครั้งหนึ่งราว 365 วัน หรือ เวลา 12 เดือนตามสุริยคติ ดังนั้น ปีใหม่” จึงหมายถึง การขึ้นรอบใหม่หลังจาก 12 เดือน หรือ 1 ปี

ความเป็นมาของ วันขึ้นปีใหม่

          วันขึ้นปีใหม่ มีประวัติความเป็นมาซึ่งเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยตามความเหมาะสม ตั้งแต่ในสมัยเริ่มแรกเมื่อชาวบาบิโลเนีย เริ่มคิดค้นการใช้ปฏิทินโดยอาศัยระยะต่าง ๆ ของดวงจันทร์เป็นหลักในการนับ เมื่อครบ 12 เดือน ก็กำหนดว่าเป็น 1 ปี และเพื่อให้เกิดความพอดีระหว่างการนับปีตามปฏิทินกับปีตามฤดูกาล จึงได้เพิ่มเดือนเข้าไปอีก 1 เดือน เป็น 13 เดือนในทุก ๆ 4 ปี

          ต่อมาชาวอียิปต์ กรีก และชาวเซมิติค ได้นำการปฏิบัติของชาวบาบิโลเนียมาดัดแปลงแก้ไขอีกหลายคราวเพื่อให้ตรงกับฤดูกาลมากยิ่งขึ้น จนถึงสมัยของกษัตริย์จูเลียต ซีซาร์ (ประมาณ 46 ปี ก่อนคริสต์ศักราช) ได้นำความคิดของนักดาราศาสตร์ชาวอียิปต์ชื่อโยซิเยนิส มาปรับปรุงให้หนึ่งปีมี 365 วัน โดยทุก ๆ 4 ปี ให้เติมเดือนที่มี 28 วัน เพิ่มขึ้นอีก 1 วัน เป็น 29 วัน คือเดือนกุมภาพันธ์ เรียกว่า อธิกสุรทิน เมื่อเพิ่มให้เดือนกุมภาพันธ์มี 29 วัน ให้ทุกๆ 4 ปี แต่วันในปฏิทินก็ยังไม่ค่อยตรงกับฤดูกาลนัก คือเวลาในปฏิทินยาวกว่าปีตามฤดูกาล เป็นเหตุให้ฤดูกาลมาถึงก่อนวันในปฏิทิน

          และในวันที่ 21 มีนาคม ตามปีปฏิทินของทุก ๆ ปี จะเป็นช่วงที่มีเวลากลางวันและกลางคืนเท่ากัน คือเป็นวันที่ดวงอาทิตย์จะขึ้นตรงทิศตะวันออก และลับลงตามทิศตะวันตก วันนี้ทั่วโลกจึงมีช่วงเวลาเท่ากับ 12 ชั่วโมงเท่ากัน เรียกว่า วันทิวาราตรีเสมอภาคมีนาคม (Equinox in March) 

          แต่ในปี พ.ศ. 2125 วัน Equinox in March กลับไปเกิดขึ้นในวันที่ 11 มีนาคม แทนที่จะเป็นวันที่ 21 มีนาคม ดังนั้นพระสันตะปาปาเกรกอรี่ที่ 13 จึงทำการปรับปรุงแก้ไขหักวันออกไป 10 วัน จากปีปฏิทิน และให้วันหลังจากวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2125 แทนที่จะเป็นวันที่ 5 ตุลาคม ก็ให้เปลี่ยนเป็นวันที่ 15 ตุลาคมแทน (ใช้เฉพาะในปี พ.ศ. 2125) ปฏิทินแบบใหม่นี้จึงเรียกว่าปฏิทินเกรกอเรี่ยน จากนั้นได้ปรับปรุงประกาศใช้ วันที่ 1 มกราคม เป็นวันเริ่มต้นของปีเป็นต้นมา

ความเป็นมาวันปีใหม่ในประเทศไทย

          สำหรับวันปีใหม่ในประเทศไทยนั้น แต่เดิมเราถือเอาวันแรม 1 ค่ำเดือนอ้าย ซึ่งตรงกับเดือนมกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับคติแห่งพระพุทธศาสนา ที่ถือช่วงเหมันต์หรือหน้าหนาวเป็นการเริ่มต้นปี ต่อมาได้เปลี่ยนแปลงไปตามคติพราหมณ์ คือถือเอาวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 เป็นวันขึ้นปีใหม่ ซึ่งตรงกับวันสงกรานต์ ดังนั้นในสมัยโบราณเราจึงถือเอาวันสงกรานต์เป็นวันขึ้นปีใหม่ของไทย

          แต่การนับวันปีใหม่หรือวันสงกรานต์ตามวันทางจันทรคติ เมื่อเทียบกับวันทางสุริยคติ ย่อมคลาดเคลื่อนกันไปในแต่ละปี ดังนั้นในวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 ปี พ.ศ. 2432 (ร.ศ. 108) ซึ่งตรงกับวันที่ 1 เมษายน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงให้ถือเอาวันที่ 1 เมษายนเป็นวันขึ้นปีใหม่ของไทยนับแต่นั้นมา เพื่อวันปีใหม่จะได้ตรงกันทุกปีเมื่อนับทางสุริยคติ (แม้ว่าวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 ปีต่อๆ มาจะไม่ตรงกับวันที่ 1 เมษายน แล้วก็ตาม) ดังนั้นจึงถือเอาเดือนเมษายนเป็นเดือนแรกของปีนับแต่นั้นมา  อย่างไรก็ดีประชาชนส่วนใหญ่โดยเฉพาะตามชนบทยังคงยึดถือเอาวันสงกรานต์เป็นวันขึ้นปีใหม่อยู่

          ต่อมาเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตย ทางราชการจึงเห็นว่าวันขึ้นปีใหม่วันที่ 1 เมษายน มักจะไม่มีงานรื่นเริงอะไรมากนักและเห็นสมควรที่จะฟื้นฟูขึ้นมาใหม่ จึงได้ประกาศให้มีงานรื่นเริงวันขึ้นปีใหม่ในวันที่ 1 เมษายน 2477 ขึ้นในกรุงเทพฯ เป็นครั้งแรก จนแพร่หลายออกไปต่างจังหวัดในปีต่อ ๆ มา โดยในปี พ.ศ. 2479 ก็ได้มีการจัดงานปีใหม่ทั่วทุกจังหวัด มีชื่อทางราชการ วันตรุษสงกรานต์”
         


เหตุผลเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่จาก 1 เมษายน เป็น 1 มกราคม

          ต่อมาก็ได้มีการพิจารณาเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาโดยมี หลวงวิจิตรวาทการ เป็นประธานคณะกรรมการ และที่ประชุมก็ได้มีมติเป็นเอกฉันท์ให้เปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่เป็นวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2484 ในวันที่ 24 ธันวาคม ในสมัยคณะรัฐบาลของ จอมพล ป. พิบูลสงครามโดยเหตุผลสำคัญก็คือ

            เป็นการไม่ขัดกับหลักพุทธศาสนาในด้านการนับวัน เดือน และการร่วมฉลองปีใหม่ด้วยการทำบุญ

            เป็นการเลิกวิธีนำเอาลัทธิพราหมณ์มาคร่อมศาสนาพุทธ

            ทำให้เข้าสู่ระดับสากลที่ใช้อยู่ในประเทศทั่วโลก

            เป็นการฟื้นฟูวัฒนธรรม คตินิยม และจารีตประเพณีของชาติไทย

          ตั้งแต่นั้นมา วันขึ้นปีใหม่ของไทยจึงตรงกับวันที่ 1 มกราคมของทุกปี เหมือนดังเช่นวันขึ้นปีใหม่ของประเทศอื่นๆ ทั่วโลก

เพลงวันปีใหม่

          แน่นอนว่า เพลงที่มักจะได้ยินบ่อย ๆ ในช่วงวันขึ้นปีใหม่ ก็คือ “เพลงพรปีใหม่” ซึ่งเป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 13 ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นในเดือนธันวาคม พ.ศ.2494 เมื่อครั้งเสด็จนิวัตพระนครและประทับ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต โดยมีพระราชประสงค์ให้เพลงนี้ เป็นพรปีใหม่ที่พระราชทานแก่พสกนิกรทุกหมู่เหล่า

          ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ นิพนธ์คำร้องเป็นคำอำนวยพรปีใหม่ แล้วพระราชทานแก่วงดนตรี 2 วง คือ วงดนตรีนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำออกบรรเลง ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และวงดนตรีสุนทราภรณ์ นำออกบรรเลง ณ ศาลาเฉลิมไทยเป็นครั้งแรกในวันปีใหม่ วันอังคารที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2495 โดยเพลงพรปีใหม่ มีเนื้อร้องดังนี้


           เพลงวันปีใหม่ (เพลงพรปีใหม่ เพลงพระราชนิพนธ์ในหลวง)
          
                ทำนอง: พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช
                คำร้อง: พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ

                สวัสดีวันปีใหม่พา ให้บรรดาเราท่านรื่นรมย์
                ฤกษ์ยามดีเปรมปรีดิ์ชื่นชม ต่างสุขสมนิยมยินดี
                ข้าวิงวอนขอพรจากฟ้า ให้บรรดาปวงท่านสุขศรี
                โปรดประทานพรโดยปรานี ให้ชาวไทยล้วนมีโชคชัย

                ให้บรรดาปวงท่านสุขสันต์ ทุกวันทุกคืนชื่นชมให้สมฤทัย
                ให้รุ่งเรืองในวันปีใหม่ ผองชาวไทยจงสวัสดี
                ตลอดปีจงมีสุขใจ ตลอดไปนับแต่บัดนี้
                ให้สิ้นทุกข์สุขเกษมเปรมปรีดิ์ สวัสดีวันปีใหม่เทอญ


ประวัติการส่ง ส.ค.ส. ในวันปีใหม่

          การส่ง ส.ค.ส. หรือบัตรอวยพรนั้น ประเทศไทยรับวัฒนธรรมมาจากต่างประเทศ ซึ่งนิยมส่งบัตรอวยพรกันมาเป็นเวลากว่า 200 ปีแล้ว ตั้งแต่ราวศตวรรษที่ 18 หรือตรงกับปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา บัตรอวยพรนี้ปรากฎในรูปแบบ “บัตรเยี่ยม” (Visiting Card) เป็นบัตรกระดาษขนาดเท่าไพ่ นิยมเขียนข้อความ หรือพิมพ์รูปภาพต่าง ๆ ลงไปเพื่อเยี่ยมเยียนกันในวันขึ้นปีใหม่ ต่อมาแพร่หลายไปในเทศกาลต่าง ๆ เช่น วาเลนไทน์ คริสต์มาส มีการส่งพิมพ์และส่งบัตรอวยพรกันอย่างแพร่หลายมากขึ้น

          สำหรับในประเทศไทยนั้น เชื่อกันว่าบัตรอวยพรปีใหม่ที่เก่าแก่ที่สุด คือ บัตรอวยพรที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประดิษฐ์ขึ้น เมื่อ 120 กว่าปีก่อน โดยในรัชสมัยของพระองค์ เป็นยุคที่มีการติดต่อสื่อสารกับต่างประเทศเป็นจำนวนมาก จึงมีการรับเอาขนบธรรมเนียมของตะวันตกมาด้วย

          ทั้งนี้การส่งบัตรอวยพรของพระองค์นั้น ยังไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าเริ่มต้นตั้งแต่เมื่อใด แต่ได้ปรากฎสำเนาคำพระราชทานพรขึ้นปีใหม่ ในปี พ.ศ.2409 ของพระองค์ ในหนังสือพิมพ์บางกอกรีคอร์ดเดอร์ (ภาษาอังกฤษ) ฉบับวันที่ 13 มกราคม 2409 แปลได้ใจความว่า “ทรงขอส่งบัตรตีพิมพ์คำอวยพรนี้ถึงบรรดากงสุล เจ้าหน้าที่กงสุลต่าง ๆ และชาวต่างประเทศที่ทรงคุ้นเคยโดยทั่วถึงกัน”

          ต่อมาในช่วงต้นรัชสมัยของรัชกาลที่ 5 ความนิยมการส่งบัตรอวยพรแพร่หลายอย่างมาก มีหลักฐานบัตรอวยพรประเภทต่างๆ ถูกเก็บรวบรวมไว้ที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติเป็นจำนวนมาก โดยมักนิยมส่งกันในช่วงเดือนเมษายน ตามวันขึ้นปีใหม่เดิมที่ตรงกับวันที่ 1 เมษายน และบนบัตรอวยพรเหล่านั้น ยังพบคำว่า “ส.ค.ศ.” หรือ “ส.ค.ส.” ปรากฎอยู่ จึงเชื่อกันว่า คำว่า “ส.ค.ส.” เกิดขึ้นในรัชสมัยนี้ โดยย่อมาจากคำว่า “ส่งความศุข” หรือ “ส่งความสุข”

          หลังจากนั้น ส.ค.ส. ก็เป็นสิ่งที่นิยมส่งให้กันในวันขึ้นปีใหม่ จนถึงปัจจุบันนี้ และ ส.ค.ส. ก็ได้เปลี่ยนรูปแบบไปมีการนำวัสดุต่าง ๆ มาประดิษฐ์ ตกแต่ง มีรูปแบบ ลวดลายหลากหลายมากขึ้น
            

ส.ค.ส. พระราชทาน

          ทุก ๆ ปี พสกนิกรจะเฝ้ารอการพระราชทานพรปีใหม่ จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ผ่าน ส.ค.ส. พระราชทานซึ่ง ส.ค.ส พระราชทานนี้ พระองค์จะทรงประดิษฐ์ขึ้นเอง เพื่อพระราชทานแก่พสกนิกรชาวไทย เนื่องในโอกาสวันขึ้นปีใหม่ โดยปีแรกที่พระองค์พระราชทาน ส.ค.ส. คือ ปี ส.ค.ส. พระราชทานสำหรับปี พ.ศ. 2530 โดยทรงพิมพ์ออกจากคอมพิวเตอร์ และแฟกซ์พระราชทานให้แก่หน่วยงาน และเจ้าหน้าที่ผู้ทำงานรับใช้ใต้เบื้องพระยุคลบาท โดยทรงใช้รหัสแทนพระองค์ว่า กส. 9 เช่นเดียวกับที่ทรงใช้ติดต่อทางวิทยุสื่อสาร


ส.ค.ส. พระราชทาน ปี พ.ศ. 2530
          นับแต่นั้นมา พระองค์ได้พระราชทาน ส.ค.ส. ทุกปี และหนังสือพิมพ์ได้นำ ส.ค.ส. พระราชทานไปตีพิมพ์ เพื่อเผยแพร่สู่สาธารณชน ส.ค.ส. พระราชทานนั้นได้ยกเว้นไปในปีใหม่ พ.ศ. 2548 ที่พระองค์ไม่ได้พระราชทาน ส.ค.ส เนื่องจากในช่วงปลายปี 2547 ได้เกิดเหตุการณ์คลื่นสึนามิซัดเข้าชายฝั่งทะเลอันดามันอย่างรุนแรง พระองค์จึงทรงงานหนัก เพื่อช่วยเหลือพสกนิกรที่ได้รับความเดือดร้อนจากเหตุการณ์ดังกล่าว แต่ได้มีรับสั่งพระราชทานแทน

         ในส่วนของข้อความที่ปรากฎบน ส.ค.ส. พระราชทานนั้น ล้วนสอดคล้องเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์บ้านเมืองในปีนั้นๆ และแม้จะเป็นเพียงถ้อยคำสั้น ๆ แต่ก็แฝงไปด้วยข้อคิด และคติเตือนใจที่ส่งผ่านไปยังปวงชนชาวไทยทุกคน  

ส.ค.ส. พระราชทาน ปี พ.ศ. 2547

          สำหรับรูปแบบของ ส.ค.ส. พระราชทานนั้น ในยุคแรกเป็น ส.ค.ส. ไม่มีลวดลาย สีขาวดำ มีข้อความปรากฎสั้น ๆ ต่อมาจนถึงปี พ.ศ.2532 เริ่มมีลวดลายประดับประดา ส.ค.ส. มากขึ้น จนถึงในปี พ.ศ.2549 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเป็นภาพสี                
 
ส.ค.ส. พระราชทาน 2557 

           ส.ค.ส. พระราชทาน ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสขึ้นปีใหม่ พุทธศักราช 2557 นี้ เป็นพระบรมฉายาลักษณ์ พระบาสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในฉลองพระองค์สากลสีน้ำเงินเข้ม ทรงผูกเนกไทสีเขียวอ่อน มีลวดลายเข้าชุดกับผ้าปักพระกระเป๋า ฉลองพระองค์ชั้นในเป็นเชิ้ตขาว ฉลองพระบาทสีดำ

           พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ประทับพระเก้าอี้สีขาว หน้าพระแกล หรือหน้าต่าง ณ พระตำหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล หัวหิน ทรงฉายกับคุณทองแดง สุนัขที่ทรงเลี้ยงมาตั้งแต่ปี 2541 สวมเสื้อสีเหลือง หมอบอยู่แทบพระบาทด้านขวา

           ด้านขวาบน มีตราพระมหาพิชัยมงกุฎประดับ ส่วนด้านซ้าย มีผอบทองประดับ ด้านล่างของผอบทอง มีตัวอักษรสีเหลือง ข้อความว่า ส.ค.ส. 2557″ และตัวอักษรสีส้ม ข้อความว่า สวัสดีปีใหม่”

           ด้านขวา ใต้ตราพระมหาพิชัยมงกุฎ มีข้อความภาษาไทยพิมพ์ด้วยตัวอักษรสีฟ้า ว่า “ขอจงมีความสุขความเจริญ” และข้อความภาษาอังกฤษ พิมพ์ด้วยตัวอักษรสีเขียวเข้ม ว่า “HAPPY NEW YEAR 2014”

           ด้านล่างของ ส.ค.ส. มีแถบสีเขียวเข้ม มุมล่างขวามีข้อความ ก.ส.9 ปรุง 060931 ธ.ค.56 พิมพ์ที่โรงพิมพ์สุวรรณชาด ท.พรหมบุตร ผู้พิมพ์โฆษณา Printed at the Suvannachad publishing, D Bromaputra. Publisher”

           กรอบของ ส.ค.ส. พระราชทานฉบับนี้ เป็นภาพใบหน้าคนเล็ก ๆ เรียงกันด้านละ 3 แถว ส่วนด้านบนและด้านล่างเรียงกันด้านละ 2 แถว ทุกหน้ามีแต่รอยยิ้ม


ส.ค.ส. พระราชทาน 2556
 

           ส.ค.ส. พระราชทานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ประจำปีพุทธศักราช 2556 เป็นพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในฉลองพระองค์เชิ้ตลำลองสีฟ้า มีลายเส้นสีชมพูและสีฟ้าเข้มพาดตัดกัน พระสนับเพลาสีดำ และฉลองพระบาทสีดำ ประทับบนพระเก้าอี้ ด้านขวาของพระเก้าอี้ที่ประทับ มีโต๊ะกลม วางพระบรมฉายาลักษณ์ครอบครัว และเชิงเทียนแก้ว 

           โดยใน ส.ค.ส. พระราชทานปีนี้ พระองค์ทรงฉายพระบรมรูปร่วมกับสุนัขทรงเลี้ยง คือคุณทองแดง ที่ทรงเลี้ยงมาตั้งแต่ปี 2541 โดยคุณทองแดงสวมเสื้อสีทอง หมอบอยู่แทบพระบาทด้านขวา และคุณมะลิ แม่เลี้ยงคุณทองแดง สวมเสื้อสีทอง หมอบอยู่แทบพระบาทด้านซ้าย

           ด้านหลังพระเก้าอี้ที่ประทับ ตกแต่งด้วยดอกกล้วยไม้หลากสี ด้านขวาบนมีตราพระมหาพิชัยมงกุฎประดับ ส่วนด้านซ้ายมีผอบ (ผะ-อบ) ทองประดับ

           ด้านล่างของผอบทอง มีตัวอักษรสีทอง ข้อความว่า ส.ค.ส. พ.ศ. 2556 สวัสดีปีใหม่ และตัวอักษรสีขาว ข้อความว่า ขอจงมีความสุขความเจริญ HAPPY NEW YEAR

           ด้านขวา ใต้ตราพระมหาพิชัยมงกุฎ มีข้อความพิมพ์ด้วยตัวอักษรสีเหลือง ข้อความว่า ความเมตตาเป็นคุณธรรมนำความสุข ช่วยปลอบปลุกปรุงใจให้หรรษา ความกตัญญูรู้คุณผู้เมตตา ทวีค่าของน้ำใจไมตรีเอย

           ด้านล่างของ ส.ค.ส. มีแถบสีม่วงเข้ม มุมล่างซ้ายมีข้อความ ก.ส. 9 ปรุง 181122 ธ.ค.55 (กอ สอ เก้า ปรุง สิบแปด สิบเอ็ด ยี่สิบสอง ทอ คอ ห้าห้า) พิมพ์ที่โรงพิมพ์สุวรรณชาด ท.พรหมบุตร, ผู้พิมพ์โฆษณา Printed at the Suvarnnachad publishing, D Bramaputra, Publisher

           กรอบของ ส.ค.ส. พระราชทานปีนี้ เป็นภาพใบหน้าคนเล็ก ๆ เรียงกัน ด้านซ้ายและด้านขวาเรียงกันด้านละ 3 แถว ส่วนด้านบนและด้านล่างเรียงกันด้านละ 2 แถว ทุกหน้ามีแต่รอยยิ้ม


ส.ค.ส. พระราชทาน 2555 


           ส.ค.ส. พระราชทาน ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ในปีพุทธศักราช 2555 นี้ เป็นพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ในฉลองพระองค์สากลสีเทาลายริ้วสีอ่อน ปกด้านซ้ายทรงประดับเข็มเครื่องหมายมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ มูลนิธิที่พระราชทานกำเนิดและทรงดำรงตำแหน่งพระบรมราชูปถัมภก ทรงผูกเนคไทสีแดงลวดลายสีทอง เข้าชุดกับผ้าปักพระกระเป๋า ฉลองพระองค์ชั้นในเป็นเชิ้ตขาว
       
           ประทับบนเก้าอี้ ด้านข้างพระเก้าอี้ที่ประทับทั้งสองข้าง มีโต๊ะกลม โต๊ะด้านขวาวางแจกันขนาดเล็กปักดอกไม้หลากสี ทรงฉายร่วมกับสุนัขทรงเลี้ยง คือ คุณทองแดงที่ทรงเลี้ยงมาตั้งแต่ปี 2541 สวมเสื้อสีทอง หมอบอยู่แทบพระบาท หน้าพระเก้าอี้ด้านซ้าย 
       
           ด้านหลังพระเก้าอี้ที่ประทับตกแต่งเป็นสวนดอกไม้ประดับ ด้านซ้ายมีระแนงไม้สีขาว ประดับอักษรชมพู ข้อความภาษาไทยว่า สวัสดีปีใหม่ และข้อความภาษาอังกฤษว่า Happy New Year ด้านขวามีต้นสนประดับเครื่องตกแต่ง ฉากหลัง เป็นผ้าม่านสีเทาอ่อน ด้านซ้ายบน มีตราพระมาหพิชัยมงกุฎประดับ ส่วนด้านขวามมีผอบทองประดับ
       
           ตรงกลาง ส.ค.ส. ด้านขวา มีข้อความจากบทพระราชนิพนธ์เรื่องพระมหาชนก ซึ่งเป็นคำตอบที่พระมหาชนกทรงตอบนางมณีเมขลาว่า ถึงจะมองไม่เห็นฝั่ง เราก็ต้องพยายามว่าย อยู่ท่ามกลางมหาสมุทร โภคะทั้งหลาย มิได้สำเร็จด้วยเพียงคิดเท่านั้น” ทรงเตือนสติให้คนไทยทั้งหลายมีความเพียร เช่นเดียวกับพระมหาชนก ที่ทรงอดทนว่ายน้ำในมหาสมุทรด้วยความเพียร จนรอดชีวิต ประโยชน์ทั้งหลายที่เกิดขึ้น ล้วนเกิดจาการกระทำ ไม่ได้เกิดจากแค่เพียงความคิด
       
           ตรงกลาง ส.ค.ส. ด้านซ้าย มีข้อความภาษาไทยพิมพ์ด้วยสีชมพูขอบสีเหลืองว่า ขอจงมีความสุขความเจริญ 2555 และ ข้อความภาษาอังกฤษพิมพ์ด้วยสีแดงขอบสีเหลืองว่า Happy New Year 2012 
       
           ด้านล่างของ ส.ค.ส. มีข้อความเป็นตัวหนังสือพิมพ์ด้วยสีน้ำเงินว่า ขอจงมีความสุข ความเจริญ มุมล่างขวา มีข้อความ ก.ส. 9 ปรุง 185029 ธค.54 พิมพ์ที่โรงพิมพ์สุวรรณชาด ท.พรหมบุตร, ผู้พิมพ์โฆษณา Printed at the Suvarnnachad publishing , D Bramaputra , Publisher
       
           กรอบของ ส.ค.ส. พระราชทานฉบับนี้ เป็นภาพใบหน้าคนเล็ก ๆ เรียงกันด้านละ 3 แถว ส่วนด้านบนและด้านล่างเรียงกันด้านละ 2 แถว ทุกหน้ามีแต่รอยยิ้ม 


ส.ค.ส. พระราชทาน 2554 


           ส.ค.ส. พระราชทานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในปีพุทธศักราช 2554 นี้ เป็นพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงฉลองพระองค์สากลสีครีมผ้าปักพระกระเป๋าเป็นผ้าลายริ้วสีเหลืองสลับเทา ฉลองพระองค์ชั้นในเป็นเชิ้ตขาว ทรงผูกเนกไทลายริ้วสีเหลืองสลับเทา ประทับบนพระเก้าอี้ ด้านข้างพระเก้าอี้ที่ประทับทั้งสองข้างมีโต๊ะสูง โต๊ะด้านซ้ายวางแจกันแก้วก้านสูงปักดอกไม้หลากสี โต๊ะด้านขวาวางแจกันแก้วขนาดเล็กปักดอกไม้หลากสีเช่นกัน ทรงฉายกับสุนัขทรงเลี้ยง 2 สุนัข คือ คุณทองแดงที่ทรงเลี้ยงมาตั้งแต่ปี 2541 หมอบอยู่หน้าพระเก้าอี้ด้านขวาและคุณทองแท้ที่ทรงเลี้ยงมาตั้งแต่ปี 2542 หมอบอยู่หน้าพระเก้าอี้ด้านซ้าย

           ด้านหลังพระเก้าอี้ที่ประทับเป็นผ้าม่านสีเทาอ่อน มีแจกันดอกไม้ขนาดใหญ่ปักดอกกุหลาบและดอกไฮเดรนเยียหลากสีตั้งอยู่ 2 แจกัน แจกัน ด้านซ้ายมีตราพระมหาพิชัยมงกุฎประดับอยู่ ส่วนแจกันด้านขวามีผอบทองประดับอยู่ ถัดไปทางด้านหลังทั้งสองด้านมีกระถางไม้ประดับตั้งอยู่

           มุมบนด้านซ้ายมีตัวอักษรสีเหลือง ข้อความว่า ส.ค.ส. สวัสดีปีใหม่ 2554 มุมบนด้านขวามีข้อความภาษาอังกฤษ Happy New Year 2011

           ด้านล่างของ ส.ค.ส. มีข้อความเป็นตัวหนังสือพิมพ์ด้วยสีน้ำเงินว่า ขอจงมีความสุข ความเจริญ มุมล่างขวา มีข้อความ ก.ส.9 ปรุง 121923 ธ.ค.53 พิมพ์ที่โรงพิมพ์สุวรรณชาด ท.พรหมบุตร, ผู้พิมพ์โฆษณา Printed at the Suvarnnachad publishing, D Bramaputra, Publisher กรอบของ ส.ค.ส. พระราชทานฉบับนี้เป็นภาพใบหน้าคนเล็กๆเรียงกันด้านละ 3 แถว ทุกหน้ามีแต่รอยยิ้ม 

ส.ค.ส. พระราชทาน 2553 


           ส.ค.ส. พระราชทานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในปีพุทธศักราช 2553 นี้ เป็นพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในฉลองพระองค์แจ็กเกตสีชมพูเข้ม ปักรูปคุณทองแดงที่ด้านซ้ายของพระอุระ ทับฉลองพระองค์ชั้นในสีขาว พระสนับเพลาสีกากี ฉลองพระบาทกีฬาสีเทาดำ ประทับบนเก้าอี้หวาย ที่ตั้งอยู่กลางสนามหญ้าและสวนดอกไม้ ทรงฉายกับคุณทองแดงและคุณทองหลาง สุนัขทรงเลี้ยง ที่นั่งเฝ้าอยู่ข้างพระเก้าอี้ทั้งสองด้าน ใต้ภาพคุณทองแดงและคุณทองหลางมีชื่อกำกับอยู่ทั้งสองสุนัข
       
           มุมด้านบนซ้ายมีตราพระมหาชัยพิชัยมงกุฎ และตัวหนังสือพิมพ์ด้วยสีเหลืองว่า ส.ค.ส. 2553 (สอ คอ สอ สองพันห้าร้อยห้าสิบสาม) ส่วนมุมบนด้านขวามีตราผอบทอง ถัดเข้ามามีข้อความภาษาอังกฤษ Happy New Year 2010 (แฮปปี้ นิวเยียร์ ทูเทาว์ซันต์แอนด์เท็น)
       
           ด้านล่าง ส.ค.ส. มีข้อความเป็นตัวหนังสือพิมพ์ด้วยสีเหลืองว่า สวัสดีปีใหม่ ขอจงมีความสุขความเจริญ และมีตัวเลขสีชมพู ระบุวันเดือนปีว่า 2009 12 27 / 15:25 (สองพันเก้า สิบสองยี่สิบเจ็ด / สิบห้า ยี่สิบห้า)
       
           กรอบของ ส.ค.ส. พระราชทานฉบับนี้ เป็นภาพหน้าคนเล็ก ๆ เรียงกัน ด้านบนและด้านล่างเรียงกันด้านละสองแถว ด้านข้าง ทั้งด้านซ้ายและด้านขวาเรียงกันละ 3 แถว นับรวมกันได้ 418 หน้า ทุกหน้ามีแต่รอยยิ้ม
       
           บนกรอบ ส.ค.ส. ด้านล่างมีแถบสีชมพู บนแถบมีข้อความ ก.ส.9 ปรุง 152527 ธ.ค. 52 (กอ สอ เก้า สิบห้า ยี่สิบเจ็ด ทอ คอ ห้าสอง) พิมพ์ที่โรงพิมพ์ สุวรรณชาด ท.พรหมบุรษ. ผู้พิมพ์โฆษณา) Printed at the Suvarnnachad publishing, D Bramapulra, Publisher


ส.ค.ส. พระราชทาน 2552 


           ส.ค.ส. พระราชทานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพุทธศักราช 2552 นี้ เป็นพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในฉลองพระองค์สากลสีน้ำตาลอ่อน ผ้าปักพระกระเป๋าสีฟ้าสดใส ฉลองพระองค์ชั้นในเป็นเชิ้ตขาว ทรงผูกเนคไทสีฟ้าอ่อน ประทับบนพระเก้าอี้ ทรงฉายกับ คุณทองแดง สุวรรณชาด ที่นั่งอยู่ข้างพระเก้าอี้ และ คุณนายแดง แม่ของคุณทองแดง ที่หมอบเฝ้าอยู่อีกข้างหนึ่ง 

           ฉากหลังของ ส.ค.ส. เป็นสนามหญ้าในบริเวณพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน มีต้นไม้ใหญ่และต้นชวนชมดอกสีชมพู

           มุมบนด้านซ้าย มีตราสัญลักษณ์ 2 ตรา คือ ตราพระมหาพิชัยมงกุฎ และผอบทอง ระหว่างตราสัญลักษณ์ทั้งสอง มีตัวหนังสือพิมพ์ด้วยสีเหลืองว่า ส.ค.ส. 2552 ใต้ลงมามีข้อความภาษาอังกฤษ Happy New Year 2009

           มุมบนด้านขาว มีข้อความเป็นตัวหนังสือพิมพ์ด้วยสีเหลืองว่า สวัสดีปีใหม่ ขอจงมี…ความสุข…ความเจริญ ด้านล่างขวา มีตัวเลขสีแดง ระบุวันเดือนปีที่ทรงฉายพระบรมฉายาลักษณ์ว่า 2008 12 17 / 17:11

           กรอบของ ส.ค.ส. พระราชทานฉบับนี้ เป็นภาพหน้าคนเล็ก ๆ เรียงกันด้านละ 3 แถว ทุกหน้า มีแต่รอยยิ้ม ในกรอบด้านล่างมีข้อความ ก.ส.9 ปรุง 192231 ธ.ค. 51 พิมพ์ที่โรงพิมพ์สุวรรณชาด ท.พรหมบุตร ,ผู้พิมพ์โฆษณา Printed at the Suvarnnachad publishing, D Bramaputra, Publisher

           ในระหว่างที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพรปีใหม่ และ ส.ค.ส. พระราชทานปี 2552 แก่ปวงชนชาวไทยนั้น คุณทองแดง สุวรรณชาด ได้หมอบเฝ้าอยู่แทบพระบาทหลังพระเก้าอี้ตลอดเวลา


ส.ค.ส. พระราชทาน 2551


           ส.ค.ส. พระราชทานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในปีพุทธศักราช 2551 นี้ เป็นพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในฉลองพระองค์ชุดปกติขาวประทับฉายพระรูปกับคุณทองแดง สุวรรณชาด และเหลน จำนวน 4 สุนัข ซึ่งพระราชทานชื่อว่า กันนิ ราชปาลยัม จิปปิปะไร และคอมไบ ตามชื่อพันธุ์สุนัขของอินเดีย ที่ใช้เป็นแบบปั้นรูปสุนัข ซึ่งเป็นบริวารของพระตรีมูรติ คือ กันนิ เพศเมียนั่งบนพระเพลา ราชปาลยัม เพศเมียยืนด้านขวา จิปปิปะไร เพศผู้ นั่งด้านหน้าใกล้พระบาทขวา และคอมไบเพศเมีย ยืนด้านซ้าย
       
           ด้านล่างมีข้อความเป็นตัวหนังสือสีเหลืองว่า สวัสดีปีใหม่ ขอจงมีความสุขความเจริญ และมีตัวเลขสีแดง 2007 12 21 และเวลา 16:52 โดยมุมบนซ้ายมีตราสัญลักษณ์ 2 ตรา คือ ตราพระมหาพิชัยมงกุฎ และผอบทอง ใต้ลงมามีข้อความ ส.ค.ส. 2551 ส่วนมุมบนด้านขวามีตัวหนังสือสีเหลืองว่า Happy New Year 2008 และตราสัญลักษณ์งานเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550

Christmas Day

วันคริสต์มาส 25 ธันวาคมของทุกปี

คริสต์มาส ประวัติเป็นมาอย่างไร ซานตาครอส เกี่ยวข้องอะไรในวันคริสต์มาส เรามีข้อมูลมาฝากค่ะ 

         ถึงช่วงปลายปีทีไร ชาวไทยเราก็มีเรื่องฉลองอีกแล้ว ไม่ว่าจะเป็นวันปีใหม่หรือวันคริสต์มาส ที่กำลังจะเข้ามาถึง แม้ว่าวันคริสต์มาสนี่ดูเหมือนจะไม่ค่อยเกี่ยวข้องกับคนไทยที่นับถือศาสนาพุทธสักเท่าไร แต่ก็มีคนไทยบางคนที่นับถือศาสนาคริสต์อยู่จำนวนไม่น้อย ว่าแต่ประวัติคริสต์มาสเป็นมาอย่างไร วันนี้เรามีข้อมูลมาฝาก 

ตำนานวันคริสต์มาส

          คำว่า คริสต์มาส เป็นคำทับศัพท์ภาษาอังกฤษว่า Christmas มาจากคำภาษาอังกฤษโบราณว่า Christes Maesse ที่แปลว่า “บูชามิสซาของพระคริสตเจ้า” ซึ่งพบครั้งแรกในเอกสารโบราณที่เป็นภาษาอังกฤษในปี ค.ศ. 1038 และในปัจจุบันคำนี้ก็ได้เปลี่ยนมาเป็นคำว่า Christmas

          เทศกาล Christmas หรือ X’Mas ตรงกับวันที่ 25 ธันวาคมของทุกปี ซึ่งวันที่ 25 ธันวาคมนั้นเป็นวันประสูติของพระเยซู ศาสดาแห่งศาสนาคริสต์ โดยพระองค์ประสูติที่เมืองเบ็ธเลเฮ็มและเติบโตที่เมืองนาซาเรท ซึ่งปัจจุบันคือประเทศอิสราเอล ตามหลักฐานในพระคัมภีร์ได้บันทึกไว้ว่า พระเยซูเจ้าประสูติในสมัยที่จักรพรรดิซีซาร์ ออกุสตุส แห่งจักรวรรดิโรมัน ซึ่งทรงสั่งให้จดทะเบียนสำมะโนครัวทั่วทั้งแผ่นดิน โดยฝ่ายคีรีนิอัส เจ้าเมืองซีเรียก็รับนโยบายไปปฏิบัติให้มีการจดทะเบียนสำมะโนครัวทั่วทั้งอาณาเขต แต่ในพระคัมภีร์ ไม่ได้ระบุว่า พระเยซูประสูติวันหรือเดือนอะไร

           ด้านนักประวัติศาสตร์ก็มีความเห็นที่ต่างออกไปโดยได้วิเคราะห์ว่า เดิมทีวันที่ 25 ธันวาคม เป็นวันที่จักรพรรดิเอาเรเลียนแห่งโรมัน กำหนดให้เป็นวันฉลองวันเกิดของสุริยะเทพ ตั้งแต่ปี ค.ศ. 274 ชาวโรมันซึ่งส่วนใหญ่นับถือเทพเจ้าฉลองวันนี้เสมือนว่า เป็นวันฉลองของพระจักรพรรดิไปในตัวด้วย เพราะจักรพรรดิก็เปรียบเสมือนดวงอาทิตย์ ที่ให้ความสว่างแก่ชีวิตมนุษย์ แต่ชาวคริสต์ที่อยู่ในจักรวรรดิโรมัน รวมถึงชาวโรมันที่เปลี่ยนไปนับถือคริสต์อึดอัดใจที่จะฉลองวันเกิดของสุริยเทพ จึงหันมาฉลองการบังเกิดของพระเยซูซึ่งเปรียบเสมือนความสว่างของโลก และเหมือนดวงจันทร์เป็นความสว่างในตอนกลางคืนแทน หลังจากที่ชาวคริสต์ถูกควบคุมเสรีภาพทางศาสนาตั้งแต่ปี ค.ศ. 64-313 จนถึงวันที่ 25 ธันวาคม ปี ค.ศ. 330 ชาวคริสต์จึงเริ่มฉลองคริสต์มาสอย่างเป็นทางการและเปิดเผย

          เทศกาลคริสต์มาสจึงเป็นวันแห่งการเฉลิมฉลองวันประสูติของพระเยซู และเป็นการฉลองความรักที่พระเจ้ามีต่อมนุษย์โลก โดยส่งบุตรชาย คือ พระเยซู” ลงมาเกิดเป็นมนุษย์เพื่อช่วยไถ่บาป และช่วยให้มนุษย์รอดพ้นจากการทำชั่วนั่นเอง ดังนั้นในวันนี้ถือเป็นวันที่มีความหมายสำคัญชาวคริสต์ทั่วโลก และมีการส่งบัตรอวยพร ให้ของขวัญ แก่กันและกัน รวมทั้งประดับประดาตกแต่งบ้านเรือนด้วยแสงไฟ และต้นคริสต์มาสอย่างสวยงาม

 

องค์ประกอบในงานคริสต์มาส

 ซานตาครอส

เป็นสิ่งแรกๆ ที่คนจะนึกถึงในฐานะสัญลักษณ์ของวันคริสต์มาส ซึ่งว่ากันว่าซานตาคลอสคนแรก คือ นักบุญ (เซนต์) นิโคลัส ผู้เป็นสังฆราชแห่งเมืองไมรา มีชีวิตอยู่ในศตวรรษที่ 4 และเหตุที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นซานตาครอสคนแรก มาจากวันหนึ่งที่ท่านปีนขึ้นไปบนหลังคาบ้านของเด็กหญิงยากจนคนหนึ่ง แล้วทิ้งถุงเงินลงไปทางปล่องไฟ บังเอิญถุงเงินหล่นไปทางถุงเท้าที่เด็กหญิงแขวนตากไว้ข้างเตาผิงพอดี

          นักบุญนิโคลัส นั้นเป็นนักบุญที่ชาวฮอลแลนด์นับถือว่าเป็นนักบุญผู้อุปถัมภ์ของเด็กๆ เมื่อชาวฮอลแลนด์กลุ่มหนึ่งอพยพไปอยู่ในสหรัฐฯ ก็ยังรักษาประเพณีการฉลองนักบุญ นิโคลาส ในวันที่ 5 ธันวาคม เอาไว้ ซึ่งหมายถึงนักบุญนี้จะมาเยี่ยมเด็กๆ และเอาของขวัญมาให้เด็กอื่นๆ ที่ไม่ใช่ลูกหลานของชาวฮอลแลนด์ที่อพยพมา ประเพณีนี้จึงเริ่มเป็นที่รู้จักและแพร่หลายในอเมริกา โดยมีการเปลี่ยนแปลงบางอย่าง คือ ชื่อนักบุญนิโคลัสก็เปลี่ยนเป็น ซานตาคลอส และแทนที่จะเป็นสังฆราชก็กลายเป็นชายแก่ที่อ้วนและใส่ชุดสีแดง อาศัยอยู่ที่ขั้วโลกเหนือ มีเลื่อนเป็นยานพาหนะที่มีกวางเรนเดียร์ลาก และจะมาเยี่ยมเด็กทุกคนในโลกนี้ในโอกาสคริสต์มาส โดยลงมาทางปล่องไฟของบ้านเพื่อเอาของขวัญมาให้เด็กเหล่านั้นตามความประพฤติของเขา

          ถึงแม้ซานตาคลอสจะเป็นเพียงตำนานที่เกิดขึ้นมาเพื่อเฉลิมฉลองวันคริสต์มาสก็ตาม แต่ก็เป็นสัญลักษณ์ที่รวมเอาวิญญาณและความหมายของคริสต์มาสไว้อย่างมากมาย อาทิ ความปิติยินดีชื่นชม ความโอบอ้อมอารี ความรัก และความเป็นกันเอง

 ถุงเท้า

           จากที่นักบุญนิโคลัสได้ปีนขึ้นไปบนปล่องไฟของบ้านเด็กหญิงยากจน เพื่อที่จะมอบเหรียญเงินให้เป็นของขวัญ แต่เหรียญนั้นกลับตกไปอยู่ในถุงเท้าที่เด็กหญิงแขวนตากไว้หน้าเตาผิง พอรุ่งเช้าเด็กหญิงตื่นมาเจอเหรียญเงินในถุงเท้าจึงดีใจมาก และกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการที่ผู้คนมากมายต่างพากันแขวนถุงเท้าคริสต์มาสไว้ เพื่อหวังจะได้รับของขวัญเช่นเดียวกันบ้าง
 

 


 ต้นคริสต์มาส

          นอกจากนี้อีกอย่างที่ขาดไม่ได้ก็คือ ต้นคริสต์มาส ซึ่งต้นคริสต์มาสก็คือต้นสนที่นำมาประดับประดาด้วยลูกแอปเปิ้ลและขนมปังเพื่อระลึกถึงศีลมหาสนิท และก็ได้มีวิวัฒนาการที่เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยจนมาถึงการประดับด้วยดวงไฟหลากสีสัน ขนม และของขวัญ อย่างในทุกวันนี้ การตกแต่งแบบนี้ต้องย้อนไปในศตวรรษที่ 8 เมื่อเซนต์บอนิเฟส มิชชันนารีชาวอังกฤษที่เดินทางไปประกาศเรื่องพระเจ้าในเยอรมนี ได้ช่วยเด็กที่กำลังจะถูกฆ่าเป็นเครื่องสังเวยบูชาที่ใต้ต้นโอ๊ก

          โดยเมื่อโค่นต้นโอ๊กทิ้งก็ได้พบต้นสนเล็กๆ ต้นหนึ่งขึ้นอยู่ที่โคนต้นโอ๊ก ท่านจึงขุดให้คนที่ร่วมพิธีกรรมเหล่านั้นเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของชีวิต และตั้งชื่อว่า ต้นกุมารพระคริสต์ ต่อมา มาร์ติน ลูเธอร์ ผู้นำคริสตจักรชาวเยอรมัน ตัดต้นสนไปตั้งในบ้านในเดือนธันวาคม ปี ค.ศ. 1540 หลังจากนั้นในศตวรรษที่ 19 ต้นคริสต์มาสจึงเริ่มแพร่ไปสู่ประเทศอังกฤษและทั่วโลก และอีกเหตุผลที่ใช้ต้นสนก็เพราะว่ามันหาง่าย

          ในสมัยโบราณนั้นต้นคริสต์มาส หมายถึง ต้นไม้ในสวนสวรรค์ ซึ่งอาดัมและเอวาไปหยิบผลไม้มากิน และทำบาป ไม่เชื่อฟังพระเจ้า โดยตามพระคัมภีร์นั้นได้เปรียบพระเยซูเจ้าเสมือนเป็นต้นไม้แห่งชีวิต ซึ่งเป็นต้นไม้ที่เขียวเสมอในทุกฤดูกาล สื่อถึงนิรันดรภาพของพระเยซูเจ้า อีกทั้งความสว่างของพระองค์ยังเหมือนแสงเทียนที่ส่องสว่างในความมืด และรวมถึงความชื่นชมยินดี และความสามัคคี ที่พระเยซูประทานให้ เพราะต้นไม้นั้นเป็นจุดศูนย์รวมของครอบครัวในเทศกาลคริสต์มาส


 ต้นฮอลลี่
          ต้นฮอลลี่ เป็นต้นไม้พุ่มเตี้ย และเป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์ของวันคริสต์มาส เชื่อกันว่า สีเขียวของต้นฮอลลี่มีความหมายถึง การมีชีวิตอยู่ชั่วนิรันดร์ และมีความสัมพันธ์กับพระเยซู โดยผลสีแดงของต้นฮอลลี่นั้นหมายถึงหยดเลือดของพระเยซูที่ไหลลงบนไม้กางเขน ซึ่งเปรียบเสมือนสัญลักษณ์ของความรักที่มีต่อพระเจ้า ใบไม้ที่มีหนามของต้นฮอลลี่เป็นสิ่งที่เตือนพวกเราถึงมงกุฏหนามที่พวกชาวทหารโรมันได้นำมาวางไว้บนศีรษะของพระเยซูคริสต์


 ดอกไม้คริสต์มาส หรือ Poinsettia

          ตำนานของดอก Poinsettia ที่กลายมาเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของวันคริสต์มาส มาจากเรื่องราวของเด็กหญิงจนๆ คนหนึ่ง ที่ต้องการหาของขวัญไปมอบให้พระแม่มารีในวันคริสต์มาสอีฟ แต่เนื่องจากเธอไม่มีสิ่งของใดๆ ติดตัว จึงเดินทางไปตัวเปล่า และระหว่างทางเธอได้พบกับนางฟ้าที่บอกให้เธอเก็บเมล็ดพืชไว้ ต่อมาเมล็ดพืชนั้นกลับเจริญเติบโตเปลี่ยนเป็นดอกไม้สีเลือดหมูสดใส ซึ่งก็คือดอก Poinsettia ตั้งแต่นั้นดอก Poinsettia ก็ได้รับความนิยมใช้ประดับประดาบ้านในงานคริสต์มาส

 ดอกคริสต์มาส Christmas Rose

          มีต้นกำเนิดที่ประเทศอังกฤษ ลักษณะเป็นดอกสีขาว และมักออกดอกในช่วงฤดูหนาว ตำนานของดอกคริสต์มาสนี้มีอยู่ว่า ในช่วงที่พระเยซูประสูติ มีผู้รอบรู้ 3 คน กับคนเลี้ยงแกะเดินทางมาพบพระเยซู ระหว่างทางพวกเขาพบกับ มาเดลอน เด็กหญิงที่เลี้ยงแกะคนหนึ่ง เมื่อเธอทราบว่าทั้งหมดเดินทางมาเพื่อมอบของขวัญให้พระเยซู มาเดลอนก็เสียใจที่ไม่มีของขวัญใดไปมอบให้พระเยซูบ้าง ก่อนที่นางฟ้าที่เฝ้ามองเธออยู่จะเกิดความเห็นใจจึงร่ายมนตร์เสกดอกไม้สีขาวน่ารักและมีสีชมพูอยู่ตรงปลายกลีบให้เธอ และดอกไม้นั้นคือ ดอกคริสต์มาสนั่นเอง


 เพลงวันคริสต์มาส

          เพลงคริสต์มาสเริ่มมีขึ้นในศตวรรษที่ 5 แต่งโดยพระสงฆ์และฆราวาส มีเนื้อร้องเป็นภาษาลาติน ลักษณะของเพลงเป็นแบบสง่า เน้นถึงความหมายของการเสด็จมาของพระเยซูเจ้า แต่ในศตวรรษที่ 12 ได้มีการแต่งในท่วงทำนองที่ร่าเริงสนุกสนานมากขึ้น เริ่มจากประเทศอิตาลี โดยนักบุญฟรังซิส อัสซีซี และนักบวชคณะฟรังซิสกัน เป็นผู้สนับสนุน ให้มีเพลงคริสต์มาสแบบใหม่

          เพลงคริสตมาสแบบใหม่นี้ เป็นที่ชื่นชอบของชาวบ้าน เพราะมีท่วงทำนองที่ร่าเริงกว่า และเน้นถึงความชื่นชมยินดีในโอกาสคริสต์มาส เพลงเหล่านี้มีทั้งที่เป็นภาษาลาติน และภาษาพื้นเมือง เพลงหนึ่งที่แต่งในสมัยนั้น (แต่งคำร้องในปี ค.ศ. 1274) และยังใช้อยู่จนถึงปัจจุบัน คือ เพลง Oh Come, All Ye Faithful หรือ Adeste Fideles ในภาษาลาติน เพลงคริสต์มาสที่นิยมร้องมากที่สุดในปัจจุบันได้แต่งขึ้นในศตวรรษที่ 19 จากประเทศเยอรมัน และประเทศอังกฤษเป็นส่วนใหญ่ เพลงที่มีชื่อเสียงมากได้แก่ เพลง Silent Night, Holy Night

          ความเป็นมาของเพลงนี้มาจากวันก่อนวันฉลองคริสต์มาส ของปี ค.ศ. 1818 คุณพ่อโจเซฟ โมห์ (Joseph Mohr) เจ้าอาวาสวัดที่โอเบิร์นดอฟ (Oberndorf) ประเทศออสเตรีย ได้ข่าวว่าออร์แกนในวัดเสีย ทำให้วงขับร้องไม่สามารถร้องเพลงตามที่ซ้อมไว้ได้ จึงมีการแต่งเพลงคริสต์มาสใหม่ นำไปให้เพื่อนชื่อ ฟรานซ์ กรูเบอร์ (Franz Gruber) ใส่ทำนองในคืนวันที่ 24 นั่นเอง และเล่นเพลง Silent Night เป็นครั้งแรก โดยมีการเล่นกีตาร์ประกอบการขับร้อง ซึ่งกลายเป็นเพลงที่นิยมมากที่สุดทั่วโลก

 คำอวยพรวันคริสต์มาส

          ในวันคริสต์มาสเรามักจะใช้คำอวยพรให้แก่กันและกันว่า Merry X’mas คำว่า Merry ในภาษาอังกฤษโบราณ แปลว่า สันติสุขและความสงบทางใจ” คำนี้จึงเป็นคำที่ใช้อวยพรขอให้เขาได้รับสันติสุขและความสงบทางใจ และได้จัดให้มีการฉลองเพื่อระลึกถึงการบังเกิดของพระเยซู ที่เขายกย่องเหมือนกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่แห่งสากลโลก ผู้ทรงเกียรติเลอเลิศ ประเพณีนี้ได้เริ่มมาจากรุงโรมในศตวรรษที่ 4 และค่อย ๆ เผยแพร่ไปทุกทวีป


 สีประจำวันคริสต์มาส

สีที่เกี่ยวข้องในวันคริสต์มาสประกอบด้วย

          สีแดง : เป็นสีของผลฮอลลี่ หรือซานตาครอส เป็นสีของเดือนธันวาคม ที่แสดงถึงความตื่นเต้น และหากเป็นสัญลักษณ์ตามศาสนา สีแดงจะหมายถึง ไฟ, เลือด และความโอบอ้อมอารี

          สีเขียว : เป็นสีของต้นไม้ สัญลักษณ์ของธรรมชาตื หมายถึงความอ่อนเยาว์และความหวังที่จะมีชีวิตเป็นนิรันดร์ เปรียบได้กับว่าเทศกาลคริสต์มาสคือเทศกาลแห่งความหวัง

          สีขาว : เป็นสีของหิมะ และเป็นสัญลักษณ์ทางศาสนา คือแสงสว่าง ความบริสุทธิ์ ความสุข และความรุ่งเรือง สีขาวนี้จะปรากฎบนเสื้อคลุมนางฟ้า, เคราและชายเสื้อของซานตาครอส

          สีทอง : เป็นสีของเทียนและดวงดาว เป็นสัญลักษณ์ของแสงอาทิตย์และความสว่างไสว

 การทำมิสซาเที่ยงคืน

          การถวายมิสซานี้เกิดขึ้นหลังจากพระสันตะปาปาจูลีอัสที่ 1 ได้ประกาศให้วันที่ 25 ธันวาคมเป็นวันฉลองพระคริสตสมภพ (วันคริสต์มาส) ในปีนั้นเองพระองค์และสัตบุรุษ ได้พากันเดินสวดภาวนา และขับร้องไปยังตำบลเบธเลเฮม และไปยังถ้ำที่พระเยซูเจ้าประสูติ เมื่อไปถึงตรงกับเวลาเที่ยงคืนพอดี พระสันตะปาปาทรงถวายบูชามิซซา ณ ที่นั้น เมื่อเดินทางกลับมาที่พักได้เวลาตี 3 พระองค์ก็ถวายมิสซาอีกครั้ง และ สัตบุรุษเหล่านั้นก็พากันกลับ แต่ยังมีสัตบุรุษหลายคนไม่ได้ร่วมขบวนไปด้วยในตอนแรก พระสันตะปาปาก็ทรงถวายบูชามิสซาอีกครั้งหนึ่งเป็นครั้งที่ 3 เพื่อสัตบุรุษเหล่านั้น ด้วยเหตุนี้เองพระสันตะปาปาจึงทรงอนุญาตในพระสงฆ์ถวายบูชามิสซาได้ 3 ครั้ง ในวันคริสต์มาส เหมือนกับการปฏิบัติของพระองค์ นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาจึงมีธรรมเนียมถวายมิสซาเที่ยงคืน ในวันคริสต์มาส และพระสงฆ์ก็สามารถถวายมิสซาได้ 3 มิสซา ในโอกาสวันคริสต์มาส

 เทียนและพวงมาลัย

         พวงมาลัยนั้นเป็นสัญลักษณ์ที่คนสมัยก่อนใช้หมายถึงชัยชนะ แต่สำหรับการแขวนพวงมาลัยในวันคริสต์มาสนั้น หมายถึงการที่พระองค์มาบังเกิดในโลก และทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างครบบริบูรณ์ตามแผนการณ์ของพระเป็นเจ้า ซึ่งธรรมเนียมนี้ เกิดจากกลุ่มคริสตชนกลุ่มหนึ่งในประเทศเยอรมันได้เอากิ่งไม้มาประกอบเป็นวงกลมคล้ายพวงมาลัย แล้วเอาเทียน 4 เล่ม วางไว้บนพวงมาลัยนั้น ในตอนกลางคืนของวันอาทิตย์แรกของเทศกาลเพื่อเตรียมรับเสด็จ ทุกคนในครอบครัวจะจุดเทียนหนึ่งเล่ม สวดภาวนา และร้องเพลงคริสต์มาสร่วมกันเป็นเวลา 4 อาทิตย์ก่อนถึงวันคริสต์มาส ประเพณีเป็นที่นิยมอยางมากในประเทศอเมริกา ต่อมาได้มีการเปลี่ยนแปลงโดยนำเทียน 1 เล่มนั้นมาจุดไว้ตรงกลางพวงมาลัยสีเขียว และนำไปแขวนไว้ที่หน้าต่าง เพื่อเป็นการเตือนให้คนที่เดินผ่านไปมาได้รู้ว่าใกล้ถึงวันคริสต์มาสแล้ว ส่วนเหตุผลที่พวงมาลัยมีสีเขียวนั้น เป็นเพราะมีการเชื่อกันว่าสีเขียวจะช่วยป้องกันบ้านเรือนจากพวกพลังอันชั่ว ร้ายได้

 ระฆังวันคริสต์มาส

          เสียงระฆังในวันคริสต์มาสคือการเฉลิมฉลองให้กับการประสูติของพระพุทธเจ้า โดยมีตำนานเล่าว่า มีการตีระฆังช่วงก่อนเวลาเที่ยงคืนของวันคริสต์มาสเพื่อลดพลังความมืด และบ่งบอกถึงความตายของปีศาจ ก่อนที่พระเยซูผู้ที่จะมาช่วยไถ่บาปให้กับมวลมนุษย์จะถือกำเนิดขึ้น และระฆังนี้มีเสียงดังกังวาลนานนับชั่วโมง ก่อนที่ในเวลาเที่ยงคืนเสียงระฆังนี้จะกลับกลายมาเป็นเสียงแห่งความสุข


 ดาว

          ดาว ในความหมายของชาวคริสต์เตียน หมายถึงการแสดงออกที่ดีของพระเยซูคริสต์ ที่บัญญัติไว้ในพระคัมภีร์ไบเบิ้ลว่า “The bright and morning star” มีความหมายพิเศษเหมือนกับว่า ดวงดาวเหล่านั้นได้แบ่งที่อยู่กับสรวงสวรรค์ ไม่ว่าจะมีกำแพงอะไรขวางกั้นระหว่างพื้นผิวโลกด้วยก็ตาม

 เครื่องประดับและแอปเปิ้ล                           

          ในบางแห่งเชื่อว่า ลำต้นของแอปเปิ้ล มองดูคล้ายกับต้นไม้ในสรวงสวรรค์ จึงมีการนำเอาแอปเปิ้ลมาประดับตามต้นไม้ในวันคริสต์มาส ส่วนเครื่องประดับชิ้นเล็ก ๆ ที่ตกแต่งต้นคริสต์มาสนั้นเป็นงานศิลปะที่จำลองจากผลไม้ และที่มีสีสันสดใสนั้นเพื่อให้เกิดความรื่นเริงในบ้าน อีกทั้งแสงระยิบระยับที่สะท้อนไปมา ยังดูสวยงามคล้ายแสงเทียนและแสงไฟ


 ของขวัญวันคริสต์มาส

          การแลกเปลี่ยนของขวัญในวันคริสต์มาสนั้น เริ่มต้นจากเมือง Saturnalia ในช่วงยุคโรมัน ต่อมาชาวคริสต์รับประเพณีนี้เข้ามา ด้วยความเชื่อว่า การให้ของขวัญนี้มีความเกี่ยวเนื่องกับของขวัญประเภททอง, ยางสนที่มีกลิ่นหอม และ ยางไม้หอม ซึ่งพวกนักเวทย์จากตะวันออกที่เดินทางมาคารวะพระเยซูคริสต์ นำมาให้ตอนที่ท่านประสูติ

          ทั้งหมดนั้นก็คือการเฉลิมฉลองให้กับพระเยซู ที่เกิดมาเพื่อชำระบาปให้แก่ชาวคริสต์ทั้งหลาย และเป็นเทศกาลที่นำความสุข สนุกสนาน มาสู่หมู่มวลมนุษย์