วิสาขบูชา Visakha Puja เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาสากลของพุทธศาสนิกชนทั่วโลก ซึ่งตรงกับวันศุกร์ที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๕๙ เป็นวันคล้ายวันที่เกิดเหตุการณ์สำคัญที่สุดในพระพุทธศาสนา ๓ เหตุการณ์ คือ
เหตุการณ์ที่ ๑ เมื่อ ๘๐ ปี ก่อนพุทธศักราช เป็นวันประสูติของเจ้าชายสิทธัตถะ ณ ใต้ร่มสาลพฤกษ์ ในพระราชอุทยานลุมพินีวัน ปัจจุบันอยู่ในเขตประเทศเนปาล
เหตุการณ์ที่ ๒ เมื่อ ๔๕ ปี ก่อนพุทธศักราช เป็น วันที่เจ้าชายสิทธัตถะได้บรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ ตรัสรู้เป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ณ ใต้ร่มโพธิ์พฤกษ์ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม ปัจจุบันอยู่ใน พุทธคยา เขตประเทศอินเดีย พระองค์ทรงเริ่มเจริญสมถภาวนา ทำจิตใจให้เป็นสมาธิ จนบรรลุปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน และจตุตถฌาน ตามลำดับ แล้วทรงทำให้ฌานอันเป็นองค์แห่งปัญญา ๓ ประการ เกิดขึ้นในยามทั้ง ๓ คือ
– ปฐมยาม ทรงบรรลุ ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ คือ ทรงสามารถระลึกชาติได้
– มัชฌิมยาม ทรงบรรลุ จุตูปปาตญาณ คือ รู้การตายการเกิดของสัตว์ทั้งปวง หรืออีกนัยหนึ่งเรียกว่าได้ ทิพยจักษุญาณ คือ ตาทิพย์
– ปัจฉิมยาม พระองค์ได้ทรงพิจารณาปฏิจจสมุปบาท คือ ธรรมที่อาศัยซึ่งกันและกัน เกิดขึ้นเป็นเหตุเป็นผลของกันและกันต่อเนื่องเสมือนกับลูกโซ่ จนได้รู้แจ้งซึ่งอริยสัจธรรม ๔ ประการ (อริยสัจ ๔) คือ
o ทุกข์ ความทุกข์ สภาวะที่ทนได้ยาก ความไม่สบายกาย ไม่สบายใจ (ปัญหา)
o สมุทัย สาเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ (สาเหตุของปัญหา)
o นิโรธ ความดับไปซึ่งต้นเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ (จุดมุ่งหมายในการแก้ปัญหา)
o มรรค ทนทางที่จะดับทุกข์ได้ (วิธีการแก้ปัญหา)
– พระองค์ทรงบรรลุ อาสวักขยญาณ คือ ความรู้เป็นเหตุสิ้นอาสวกิเลสทั้งปวง เมื่อนั้นจิตของพระองค์ก็หลุดพ้นจากกิเลสและอาสวะทั้งปวง ไม่มีความยึดถือมั่นด้วยตัณหาอุปาทาน อันเป็นการได้ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ สำเร็จเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างสมบูรณ์ ในยามที่ ๓ แห่งคืนวิสาขมาส ก่อนพุทธศักราช ๔๕ ปีตั้งแต่นั้น พระองค์ทรงได้รับการถวายพระนามบัญญัติโดยคุณนิมิตแห่งพระองค์ว่า “อรหํ” เป็นพระอรหันต์ผู้ห่างไกลจากกิเลสทั้งปวง และ “สมฺมาสมฺพุทฺโธ” เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ได้ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง หามีผู้ใดเป็นครูอาจารย์ไม่ ต่อมา พระองค์ได้ทรงนำสิ่งที่พระองค์ทรงรู้แจ้งในวันตรัสรู้นี้มาเผยแก่หมู่ชนทั้งหลาย พระองค์จึงทรงได้รับขนานพระนามว่า “สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า” ทรงกอปรไปด้วย “พระบริสุทธิคุณ”, “พระปัญญาคุณ” ผู้ซึ่งได้ทรงสั่งสอนประกาศพระสัจธรรม คือ ความจริงของโลก แก่ชนทั้งปวงโดย “พระมหากรุณาธิคุณ”
เหตุการณ์สุดท้าย เมื่อ ๑ ปี ก่อนพุทธศักราช เป็น วันเสด็จดับขันธปรินิพพานขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ณ ใต้ร่มสาลพฤกษ์ ในสาลวโนทยาน พระราชอุทยานของเจ้ามัลละ เมืองกุสินารา ปัจจุบันอยู่ในเขตประเทศอินเดีย พระปัจฉิมโอวาทเตือนเป็นครั้งสุดท้ายว่า ภิกษุทั้งหลาย! บัดนี้ เราจักเตือนพวกเธอทั้งหลายว่า “สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา. พวกเธอทั้งหลาย จงยังประโยชน์ตนและท่าน ให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด”
โดยทั้งสามเหตุการณ์ได้เกิด ณ วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ หรือวันเพ็ญแห่งเดือนวิสาขะ เรียกการบูชาในวันนี้ว่า “วิสาขบูชา” ย่อมาจาก “วิสาขปุรณมีบูชา” แปลว่า “การบูชาในวันเพ็ญเดือนวิสาขะ” และมักตรงกับเดือนพฤษภาคมหรือมิถุนายนตามปฏิทินจันทรคติของไทย โดย ถ้าปีใดมีเดือน ๘ สองหน ก็เลื่อนไปทำในวันเพ็ญเดือน ๗ และได้นิยมประกอบพิธีบำเพ็ญบุญกุศลและประกอบพิธีพุทธบูชาต่าง ๆ เพื่อเป็นการถวายสักการะรำลึกถึงแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสืบมาจนปัจจุบัน และพุทธสังเวชนียสถานที่เกี่ยวข้องกับวันวิสาขบูชาได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นมรดกโลก
วิสาขบูชา มีการนับถือปฏิบัติกันในหลายประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาทั้งมหายานและเถรวาททุกนิกายมาช้านานแล้ว ในบางประเทศเรียกพิธีนี้ว่า “พุทธชยันตี” (Buddha Jayanti) เช่นใน อินเดีย และศรีลังกา ในปัจจุบันมีหลายประเทศที่ยกย่องให้วันวิสาขบูชาเป็นวันหยุดราชการ เช่น ประเทศอินเดีย ประเทศไทย ประเทศพม่า ประเทศศรีลังกา สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย เป็นต้น (ส่วนใหญ่เป็นประเทศที่มีสัดส่วนประชากรที่นับถือพระพุทธศาสนานิกายเถรวาทมากที่สุด) ในฝ่ายของประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาเถรวาทในปัจจุบัน ส่วนใหญ่ได้รับคติการปฏิบัติบูชาในวันวิสาขบูชามาจากลังกา (ประเทศศรีลังกา) ในประเทศไทยปรากฏหลักฐานว่ามีการจัดพิธีวิสาขบูชามาตั้งแต่สมัยสุโขทัย
วันวิสาขบูชา ถือได้ว่าเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาสากล เพราะพุทธศาสนิกชนพร้อมใจกันจัดพิธีพุทธบูชาในวันนี้พร้อมกันทั่วทั้งโลก (ซึ่งไม่เหมือนวันมาฆบูชา และวันอาสาฬหบูชา ที่เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาที่นิยมนับถือกันเฉพาะในประเทศไทย, ลาว, และกัมพูชา) และด้วยเหตุนี้ ประชุมใหญ่สมัชชาสหประชาชาติจึงยกย่องให้วันวิสาขบูชาเป็น วันสำคัญสากล (International Day) ตามข้อมติสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติที่ ๕๔/๑๑๒ ลงวันที่ ๑๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๒
กิจกรรมต่าง ๆ ที่ถือปฏิบัติกัน คือ การทำบุญตักบาตร การรักษาศีลส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรม ลด ละ เลิกอบายมุข ทำความดี ทำจิตใจให้บริสุทธิ์ผ่องใส การปฏิบัติธรรมน้อมนำหลักธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนาไปประพฤติปฏิบัติสร้างสังคมไทยให้เป็นสังคมที่ดีมีคุณธรรมอย่างยั่งยืน ต่อด้วยการฟังพระธรรมเทศนา และการเวียนเทียน เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา
ต้นโพธิ์ ใบโพธิ์ หรือส่วนประกอบอื่นๆ ของต้นโพธิ์ สื่อถึงปัญญา นั่นคือจุดเริ่มต้นแรงบันดาลใจของ Goldlery ในการสรรค์สร้าง แหวนรูปใบโพธิ์ที่เป็นสัญลักษณ์แห่งปัญญา