วันอาสาฬหบูชา เป็นวันเพ็ญเดือนอาสาฬหะ (วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8) ซึ่งตรงกับวันอังคารที่ 19 กรกฎาคม 2559 เป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร แก่ปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 ทำให้พราหมณ์โกณฑัญญะเกิดความเลื่อมใส ในพระธรรมของพระพุทธเจ้า จนได้ดวงตาเห็นธรรมจึงขออุปสมบทในพระธรรมวินัยของพระพุทธเจ้า ด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา ทำให้มีพระรัตนตรัยครบองค์สามบริบูรณ์เป็นครั้งแรกในโลก คือ มีทั้งพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์
การแสดงพระธรรมเทศนา มีหลักธรรมสำคัญ 2 ประการ คือ
มัชฌิมาปฏิปทา(ทางสายกลาง) โดยมีหลักปฏิบัติเป็นองค์ประกอบ 8 ประการ เรียกว่า มรรคมีองค์ 8 ได้แก่
- สัมมาทิฏฐิ (การเห็นชอบ) คือ รู้เข้าใจถูกต้อง เห็นตามที่เป็นจริง
- สัมมาสังกัปปะ (การดำริชอบ) คือ คิดสุจริตตั้งใจทำสิ่งที่ดีงาม
- สัมมาวาจา (เจรจาชอบ) คือ กล่าวคำสุจริต
- สัมมากัมมันตะ (กระทำชอบ) คือ ทำการที่สุจริต
- สัมมาอาชีวะ (อาชีพชอบ) คือ ประกอบสัมมาชีพหรืออาชีพที่สุจริต
- สัมมาวายามะ (พยายามชอบ) คือ เพียรละชั่วบำเพ็ญดี
- สัมมาสติ (ระลึกชอบ) คือ ทำการด้วยจิตสำนึกเสมอ ไม่เผลอพลาด
- สัมมาสมาธิ (ตั้งจิตมั่นชอบ) คือ คุมจิตให้แน่วแน่มั่นคงไม่ฟุ้งซ่าน
อริยสัจ 4(ความจริงอันประเสริฐของอริยะ) ซึ่งคือบุคคลที่ห่างไกลจากกิเลส ได้แก่
- ทุกข์ (ปัญหาทั้งหลายที่เกิดขึ้นจากมนุษย์) บุคคลต้องกำหนดรู้ให้เท่าทันตามความเป็นจริง
- สมุทัย (เหตุเกิดแห่งทุกข์ หรือสาเหตุของปัญหา) ตัวการสำคัญของทุกข์ คือ ตัณหา
- นิโรธ (การดับทุกข์) เริ่มด้วยอยู่อย่างรู้เท่าทันโลกและชีวิต ดำเนินชีวิตด้วยการใช้ปัญญา
- มรรค (กระบวนวิธีแห่งการแก้ปัญหา) ได้แก่ มรรคมีองค์ 8 ประการดังกล่าวข้างต้น
วันเข้าพรรษา (วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8) ตรงกับวันพุธที่ 20 กรกฎาคม 2559 เป็นวันสำคัญที่พระสงฆ์จะอธิษฐานว่าจะพักประจำอยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่ง ตลอดระยะเวลาฤดูฝนที่มีกำหนดเป็นระยะเวลา 3 เดือน ตามที่พระธรรมวินัยบัญญัติไว้ โดยไม่ไปค้างแรมที่อื่น หรือที่เรียกว่า “จำพรรษา” ด้วยเหตุที่พระภิกษุในสมัยพุทธกาล มีหน้าที่จะต้องจาริกโปรดสัตว์ และเผยแผ่พระธรรมคำสั่งสอนแก่ประชาชนไปในที่ต่าง ๆ ไม่จำเป็นต้องมีที่อยู่ประจำ แม้ในฤดูฝน ชาวบ้านจึงตำหนิว่าไปเหยียบข้าวกล้าและพืชอื่น ๆ จนเสียหาย พระพุทธเจ้าจึงทรงวางระเบียบการจำพรรษาให้พระภิกษุอยู่ประจำที่ตลอด 3 เดือน ในฤดูฝน คือ เริ่มตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ของทุกปี เรียกว่า “ปุริมพรรษา” และออกพรรษาในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 เรียกว่า “ปัจฉิมพรรษา” เว้นแต่มีเหตุจำเป็น
กิจกรรมวันอาสาฬหบูชา
ทำบุญตักบาตร ถวายเครื่องสักการะบูชา ดอกไม้ ธูปเทียน และเครื่องใช้ พร้อมฟังเทศน์ ฟังธรรม และรักษาอุโบสถศีลกันที่วัด บางคนอาจตั้งใจงดเว้นอบายมุขต่าง ๆ เป็นกรณีพิเศษ เช่น งดเสพสุรา งดฆ่าสัตว์ เป็นต้น บิดามารดามักจะจัดพิธีอุปสมบทให้บุตรหลานของตน โดยถือกันว่าการเข้าบวชเรียนและอยู่จำพรรษาในระหว่างนี้ และมีประเพณีสำคัญที่ขาดไม่ได้เลย คือ “ประเพณีหล่อเทียนเข้าพรรษา” ประเพณีที่กระทำกันเมื่อใกล้ถึงฤดูเข้าพรรษา
ดังนั้น พุทธศาสนิกชนทั้งหลายควรเข้าวัด เพื่อน้อมระลึกถึงคุณพระรัตนตรัย อีกทั้งยังเป็นการช่วยชะล้างจิตใจให้ปลอดโปร่งผ่องใส จะได้มีร่างกายและจิตใจที่พร้อมสำหรับการดำเนินชีวิต
Klook.com