วันอาสาฬหบูชา

วันอาสาฬหบูชา เป็นวันเพ็ญเดือนอาสาฬหะ (วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8) ซึ่งตรงกับวันอังคารที่ 19 กรกฎาคม 2559 เป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร แก่ปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 ทำให้พราหมณ์โกณฑัญญะเกิดความเลื่อมใส ในพระธรรมของพระพุทธเจ้า จนได้ดวงตาเห็นธรรมจึงขออุปสมบทในพระธรรมวินัยของพระพุทธเจ้า ด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา ทำให้มีพระรัตนตรัยครบองค์สามบริบูรณ์เป็นครั้งแรกในโลก คือ มีทั้งพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์

การแสดงพระธรรมเทศนา มีหลักธรรมสำคัญ 2 ประการ คือ

มัชฌิมาปฏิปทา(ทางสายกลาง) โดยมีหลักปฏิบัติเป็นองค์ประกอบ 8 ประการ เรียกว่า มรรคมีองค์ 8 ได้แก่

  1. สัมมาทิฏฐิ (การเห็นชอบ) คือ รู้เข้าใจถูกต้อง เห็นตามที่เป็นจริง
  2. สัมมาสังกัปปะ (การดำริชอบ) คือ คิดสุจริตตั้งใจทำสิ่งที่ดีงาม
  3. สัมมาวาจา (เจรจาชอบ) คือ กล่าวคำสุจริต
  4. สัมมากัมมันตะ (กระทำชอบ) คือ ทำการที่สุจริต
  5. สัมมาอาชีวะ (อาชีพชอบ) คือ ประกอบสัมมาชีพหรืออาชีพที่สุจริต
  6. สัมมาวายามะ (พยายามชอบ) คือ เพียรละชั่วบำเพ็ญดี
  7. สัมมาสติ (ระลึกชอบ) คือ ทำการด้วยจิตสำนึกเสมอ ไม่เผลอพลาด
  8. สัมมาสมาธิ (ตั้งจิตมั่นชอบ) คือ คุมจิตให้แน่วแน่มั่นคงไม่ฟุ้งซ่าน

อริยสัจ 4(ความจริงอันประเสริฐของอริยะ) ซึ่งคือบุคคลที่ห่างไกลจากกิเลส ได้แก่

  1. ทุกข์ (ปัญหาทั้งหลายที่เกิดขึ้นจากมนุษย์) บุคคลต้องกำหนดรู้ให้เท่าทันตามความเป็นจริง
  2. สมุทัย (เหตุเกิดแห่งทุกข์ หรือสาเหตุของปัญหา) ตัวการสำคัญของทุกข์ คือ ตัณหา
  3. นิโรธ (การดับทุกข์) เริ่มด้วยอยู่อย่างรู้เท่าทันโลกและชีวิต ดำเนินชีวิตด้วยการใช้ปัญญา
  4. มรรค (กระบวนวิธีแห่งการแก้ปัญหา) ได้แก่ มรรคมีองค์ 8 ประการดังกล่าวข้างต้น

วันเข้าพรรษา (วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8) ตรงกับวันพุธที่ 20 กรกฎาคม 2559 เป็นวันสำคัญที่พระสงฆ์จะอธิษฐานว่าจะพักประจำอยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่ง ตลอดระยะเวลาฤดูฝนที่มีกำหนดเป็นระยะเวลา 3 เดือน ตามที่พระธรรมวินัยบัญญัติไว้ โดยไม่ไปค้างแรมที่อื่น หรือที่เรียกว่า “จำพรรษา” ด้วยเหตุที่พระภิกษุในสมัยพุทธกาล มีหน้าที่จะต้องจาริกโปรดสัตว์ และเผยแผ่พระธรรมคำสั่งสอนแก่ประชาชนไปในที่ต่าง ๆ ไม่จำเป็นต้องมีที่อยู่ประจำ แม้ในฤดูฝน ชาวบ้านจึงตำหนิว่าไปเหยียบข้าวกล้าและพืชอื่น ๆ จนเสียหาย พระพุทธเจ้าจึงทรงวางระเบียบการจำพรรษาให้พระภิกษุอยู่ประจำที่ตลอด 3 เดือน ในฤดูฝน คือ เริ่มตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ของทุกปี เรียกว่า “ปุริมพรรษา” และออกพรรษาในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 เรียกว่า “ปัจฉิมพรรษา” เว้นแต่มีเหตุจำเป็น

กิจกรรมวันอาสาฬหบูชา

ทำบุญตักบาตร ถวายเครื่องสักการะบูชา ดอกไม้ ธูปเทียน และเครื่องใช้ พร้อมฟังเทศน์ ฟังธรรม และรักษาอุโบสถศีลกันที่วัด บางคนอาจตั้งใจงดเว้นอบายมุขต่าง ๆ เป็นกรณีพิเศษ เช่น งดเสพสุรา งดฆ่าสัตว์ เป็นต้น บิดามารดามักจะจัดพิธีอุปสมบทให้บุตรหลานของตน โดยถือกันว่าการเข้าบวชเรียนและอยู่จำพรรษาในระหว่างนี้ และมีประเพณีสำคัญที่ขาดไม่ได้เลย คือ “ประเพณีหล่อเทียนเข้าพรรษา” ประเพณีที่กระทำกันเมื่อใกล้ถึงฤดูเข้าพรรษา

ดังนั้น พุทธศาสนิกชนทั้งหลายควรเข้าวัด เพื่อน้อมระลึกถึงคุณพระรัตนตรัย อีกทั้งยังเป็นการช่วยชะล้างจิตใจให้ปลอดโปร่งผ่องใส จะได้มีร่างกายและจิตใจที่พร้อมสำหรับการดำเนินชีวิต


Klook.com